หลายคนอาจสงสัย..ว่าเด็กแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ ?
โดยข้อเท็จจริงแล้ว เด็กทารกแรกเกิดทุกๆ 100 คน จะมี 1 คน ที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดซึ่งมีชนิดผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจด้านบนหรือด้านล่างรั่ว หรือ ชนิดที่มีอาการเขียว ปากม่วงคล้ำ หายใจหอบ โดยรวมแล้ว เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เกือบหนึ่งในสามหากไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็ก และได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้
อาการที่อาจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคหัวใจ
• เด็กดูดนมได้ช้า, ดูดนมแล้วหอบเหนื่อย
• หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาเล่น หรือออกกำลังกาย
• เลี้ยงไม่โตหรือเติบโตช้า ในเด็กเล็กก็จะพบพัฒนาการช้าทางด้านที่ต้องใช้กำลังหรือกล้ามเนื้อ เช่น คว่ำ, นั่ง, ยืน, เดิน ช้า แต่มักไม่มีผลต่อสติปัญญาชัดเจน
• มีอาการเขียวเวลาดูดนม เหนื่อยง่าย ทำให้กินได้น้อยกว่าปกติ
• นิ้วปุ้ม มักจะพบในรายที่มีอาการเขียวนานเกิน 1-2 ปีขึ้นไป โดยในรายที่เขียวมากนิ้วก็จะปุ้มมาก
ถ้ามีอาการน่าสงสัย ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และวินิจฉัยเพิ่มเติม
หัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
ในประเทศไทย นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันพบอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ 8:1000 หมายถึง ทารกที่คลอดมีชีวิต 1000 ราย จะพบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 ราย
สาเหตุ แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 5 เช่น เด็กที่เป็นโรคดาว์นซินโดรมอาจพบเป็นโรคหัวใจพิการได้ถึงร้อยละ 30
2. สิ่งแวดล้อม พบเป็นสาเหตุได้ร้อยละ 10 เช่น จากการที่มารดาได้รับยาระงับประสาท หรือมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์
3. อื่นๆ พบได้ร้อยละ 85 โดยที่ความพิการแต่กำเนิดของหัวใจพบมีหลายชนิด อาการแสดงและความรุนแรงของแต่ละโรคจะไม่เหมือนกัน บางชนิดอาจหายได้เอง บางชนิดต้องรับการแก้ไขโดยการผ่าตัดตั้งแต่เด็ก บางชนิดก็รอผ่าตัดแก้ไขตอนเด็กโตขึ้น
โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อย 5 อันดับแรก
1. ชนิดผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect : VSD) พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
(ร้อยละ 20-30)
2. ชนิดเส้นเลือดแดง (Patent Ductus Arteriosus : PDA)
3. ชนิดผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว (Atrial Septal Defect : ASD)
4. ชนิดลิ้นหัวใจ (Pulmonary Stenosis : PS)
5. ชนิดเขียวที่พบบ่อย คือ Tetralogy of Fallot (TOF) หมายถึง ภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจ และ / หรือหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
เทคโนโลยี.. ตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก
เทคโนโลยี การตรวจหัวใจในเด็ก
1. การวัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดจากผิวหนัง ด้วยเครื่อง Pulse Oximeter ซึ่งเป็นการตรวจวัดที่มีความแม่นยำสูง ทารกไม่ต้องเจ็บตัวจากการถูกเจาะเลือด สามารถใช้ตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียวในทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด
2. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของหัวใจว่ามีหัวใจห้องไหนโตหรือไม่ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ รวมถึงดูว่าห้องหัวใจโตได้ด้วย
4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการตรวจพิเศษดูภายในหัวใจ และหลอดเลือด โดยกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจเด็ก เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเหมือนการทำ Ultrasound ซึ่งจะบอกรายละเอียดของความผิดปกติภายในหัวใจและเส้นเลือดใหญ่บริเวณใกล้หัวใจได้ เป็นวิธีการตรวจที่ทำได้รวดเร็ว และแม่นยำ โดยไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงจากรังสีเอกซเรย์ แต่ถ้าการตรวจในขั้นต้นไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ การตรวจด้วยการสวนหัวใจหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นวิธีการที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย และต้องทำรายที่จำเป็นเท่านั้น
การรักษา
ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าเป็น VSD ที่ขนาดเล็กๆ รอยรั่วก็อาจจะปิดได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น หรือ ถ้าเป็น TOF ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น หรือในบางรายก็อาจใช้การรักษาด้วยการใช้ยาก็เพียงพอ