โรคลมชักในเด็ก

1 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์โรคระบบประสาทในเด็ก

โรคลมชักในเด็ก อาการที่ต้องรักษาอย่างถูกวิธี

 

แน่นอนว่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่ สุขภาพของลูกน้อยย่อมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ถึงแม้เราจะใส่ใจดีมากแค่ไหน แต่บางครั้งเด็ก ๆ ก็อาจเป็นโรคที่ไม่แสดงออกทางกายภาพให้สามารถสังเกตได้ในยามปกติ แต่อาจแสดงออกมาทางอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น โรคลมชักในเด็ก ที่มีอาการแสดงได้หลายแบบ เช่น ชักเกร็งทั้งตัว แขนขากระตุก เหม่อลอย ตาลอย ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจอันตรายถึงชีวิตและสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของลูกรักในระยะยาวได้

 

เมื่อไรจึงจะเรียกว่าเป็นโรคลมชัก?

เมื่อลูกน้อยมีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปโดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น กล่าวคือต้องเป็นอาการชักที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบาย หรือมีไข้ ซึ่งอาการชักที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อระดับความรู้สึกตัวร่วมด้วย

 

โรคลมชักในเด็กเกิดจากสาเหตุใด เหมือนกับสาเหตุโรคลมชักในผู้ใหญ่หรือไม่?

โรคลมชักในเด็กและผู้ใหญ่จะแตกต่างกันที่สาเหตุของโรค โดยโรคลมชักในผู้ใหญ่มักมีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพในสมอง หรือมีความผิดปกติของสมอง เช่น สมองขาดเลือด เนื้องอกในสมอง ในขณะที่มากกว่า 70% ของเด็กโรคลมชักมักไม่ปรากฎสาเหตุ มีเพียง 30% ที่หาสาเหตุของโรคลมชักในเด็กได้

  • พันธุกรรม
  • โรคทางสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง โรคสมองอักเสบ โรคสมองพิการแต่กำเนิด
  • โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น โรคลมชักที่เกิดจากไข้สูง
  • ภาวะขาดสารอาหาร
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

 

อาการของโรคลมชักในเด็กเป็นอย่างไร มีแบบใดบ้าง?

อาการลมชักในเด็กเกิดจากสมองปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมา ทำให้เกิดลักษณะของการชัก 2 แบบ ดังนี้

  • แบบที่ 1 อาการชักที่เกิดทั้งตัว เช่น เกร็งทั้งตัว กระตุกทั้งตัว โดยเป็นอาการชักที่เด็กมักไม่รู้สึกตัว
  • แบบที่ 2 อาการชักเฉพาะที่ ซึ่งเป็นอาการชักที่จะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดการชักว่าอยู่ตำแหน่งใดของสมอง โดยอาจเกิดด้านใดด้านหนึ่ง หรือเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เด็กอาจรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีอาการของโรคลมชักในทารกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอาการชักในทารกมักจะเกิดขึ้นสั้น ๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที และอาจสังเกตได้ยากกว่าเด็กโต โดยจะมีอาการกระตุกที่แขน ขา หรือเกิดการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ที่แขนและขา เช่น การหมุน หรือการเคี้ยวปาก และอาจมีสัญญาณบ่งชี้เพิ่มเติม ได้แก่ การหยุดหายใจ กัดริมฝีปาก การเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต หรือการเต้นของชีพจร

 

เราจะมีวิธีการดูแลเบื้องต้นขณะเด็กชักอย่างไร?

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำเป็นอย่างแรก คือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นตระหนกและพยายามสังเกตสถานที่และสภาพแวดล้อมรอบข้าง จากนั้นจัดสถานที่ให้ลูกน้อยอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยหากรอบข้างมีผู้คน ต้องขอความร่วมมือไม่ให้ยืนมุงกัน และปฏิบัติตามวิธีหรือขั้นตอน ดังนี้

  • จับให้เด็กนอนตะแคง ศีรษะต่ำ เพื่อไม่ให้สำลัก
  • ถ้าพบว่ามีเศษอาหารอยู่ภายในปาก ให้นำออกมาทันที
  • คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออกจากตัวเด็ก
  • ถ้ามีไข้ ให้เช็ดตัวลดไข้ด้วย
  • ห้ามใช้วัสดุใดๆใส่เข้าไปในปาก เพราะจะไปอุดตันทางเดินหายใจได้
  • ถ้าสามารถบันทึก VDO ได้ แนะนำให้บันทึกลักษณะอาการชักไว้ เพื่อให้แพทย์ดูลักษณะการชัก
  • รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

วิธีการรักษาโรคลมชักในเด็ก มีวิธีใดบ้าง?

การใช้ยากันชักเป็นวิธีหลักในการรักษาโรคลมชัก ซึ่งในปัจจุบันมียากันชักให้เลือกใช้หลายชนิด การเลือกว่าจะใช้ยาตัวใดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพของยา อายุของเด็ก ผลข้างเคียง และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการรักษาโดยการกินยากันชัก จะต้องกินต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี โดยไม่ควรหยุดยาเอง ในบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากันชักหลายชนิด อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นร่วม เช่น การกินอาหารคีโต (Ketogenic diet), การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและให้คำแนะนำอย่างละเอียดก่อนทำการรักษา

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวช ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

 

ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโรคลมชักในเด็ก หรือต้องการสอบถามข้อมูลในด้านต่าง ๆ

เกี่ยวกับการรักษา ทั้งค่ารักษาพยาบาลหรือนัดหมายแพทย์

ติดต่อได้ที่ Call Center 02-793-5000 ตลอด 24 ชั่วโมง

SHARE