โกรทฮอร์โมน กับภาวะตัวเตี้ย…

>8 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone: GH) 

หรือ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองและส่งเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความสูงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

สาเหตุของการขาด Growth hormone ในเด็ก

เด็กที่มีปัญหาขาดโกรทฮอร์โมน เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองพิทูอิทารี (Pituitary gland) และต่อมไฮโปธาลามัส(Hypothalamas) หรือบางครั้งระดับฮอร์โมนในเลือดอาจปกติแต่มีภาวะดื้อต่อโกรทฮอร์โมน ทำให้โกรทฮอร์โมนทำงานไม่ได้(GH insensitivity) โดยแบ่งเป็น

1. ความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital growth hormone deficiency) เช่น

  • ต่อมใต้สมองมีขนาดเล็กหรือรูปร่างผิดปกติ
  • โรคพันธุกรรมบางอย่างทำให้การสร้างฮอร์โมนผิดปกติหรือการทำหน้าที่ของโกรทฮอร์โมนผิดปกติ
  • ไม่ทราบสาเหตุ

2. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง (Acquired growth hormone deficiency) เช่น

  • ก้อนเนื้องอกไปกดต่อมใต้สมอง
  • การติดเชื้อในสมอง
  • อุบัติเหตุและการบาดเจ็บในศีรษะชนิดรุนแรง
  • การผ่าตัดสมอง
  • การรับรังสีรักษาบริเวณต่อมใต้สมอง

 

การขาด growth hormone (ฮอร์โมนการเจริญเติบโต) มีผลต่อเด็กอย่างไร?

เด็กที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือโกรทฮอร์โมน growth hormone จะมีใบหน้าดูอ่อนกว่าวัย โครงหน้าเหมือนตุ๊กตา ดั้งจมูกแบนกว่าปกติ บางรายสัมพันธ์กับภาวะปากแหว่งเดานโหว่ รูปร่างเตี้ยเล็กแต่สมส่วน อ้วน เนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมาก ถ้าเป็นเด็กชายมักมีอวัยวะเพศเล็กไม่สมวัย เสียงเล็กแหลม เรียกภาวะนี้ว่า “เตี้ยแคระ” หรือ “dwarfism” ภาวะขาดโกรทฮอร์โมนไม่มีผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก เด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมนเพียงอย่างเดียวจึงมักมีระดับสติปัญญาปกติ

 

 

 

ภาวะขาด Growth hormone ในเด็กรักษาอย่างไร ?

การรักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมนในเด็ก นอกจากการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุซึ่งสามารถแก้ไขได้ เช่น การผ่าตัดรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง ยังมีการรักษาโดยการให้โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์

 

โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ เป็นสารที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยซึ่งขาดฮอร์โมน แพทย์จะให้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ผ่านทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทุกวันก่อนนอนวันละครั้ง ซึ่งก่อนจะได้รับฮอร์โมนดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องได้รับการทดสอบประเมินการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต

 

การฉีดโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ในเด็กจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเจริญเติบโตได้เป็นปกติมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หลังฉีดจะทำให้ความสูงเพิ่มขึ้น10-12cm ในปีแรก และ7-9 cm/ปี ในปีที่ 2 และ3 โดยการใช้โกรทฮอร์โมนนี้จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพราะหากใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน

 

 นอกจากนั้นวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้มีการเจริญเติบโตที่ดี

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ≥5 ครั้งต่อสัปดาห์
  2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวันและเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม
  3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่รวมถึงอาหารจำพวกโปรตีน สังกะสี วิตามินดีที่เพียงพอ
  4. ดื่มนมจืดให้เพียงพอ เด็กเล็กก่อนเข้าวัยรุ่นวันละ 600-800 ซีซี เด็กช่วงวัยรุ่นวันละ 1 ลิตร

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE