
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นจำแนกเป็น 2 ชนิด คือ
- เบาหวานชนิดที่ 1
- เบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 1 พบในเด็กและวัยรุ่นได้บ่อยกว่า มีสาเหตุจากการที่ร่างกายมีสารภูมิคุ้มกันของตนเองไปทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ต้องฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ และ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
เบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในเด็กอ้วน ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ถ้าเป็นเบาหวานชนิดนี้ การรักษาหลัก คือ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และ การใช้ยา ซึ่งมีทั้งยากิน เพื่อรักษาภาวะที่อินซูลินทำงานได้ไม่ดี ในบางรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องฉีดยาอินซูลินร่วมด้วย
อาการของเด็กที่เป็นเบาหวาน…เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ปัสสาวะบ่อย
หิวน้ำบ่อย
น้ำหนักลด
อ่อนเพลีย
บางรายที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Diabetic ketoacidosis (DKA) ซึ่งผู้ป่วยจะมีเลือดเป็นกรดรุนแรง มีอาการซึมผิดปกติ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจหอบลึก และคลื่นไส้อาเจียนได้
การรักษาเบาหวานในเด็ก
ประกอบด้วยการรักษาหลัก คือ การฉีดอินซูลิน ร่วมกับควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
เป้าหมายการรักษา
ระดับน้ำตาลในเลือด | A1C | หมายเหตุ* | |
ก่อนอาหาร
90 – 130 mg/dl |
ก่อนนอน
90 – 150 mg/dl |
<7.5% | อาจพิจารณาให้ A1C <7.0% ในกรณีที่ทำได้โดยไม่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อย |
วิธีการดูแลเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง
เมื่อเจาะน้ำตาลได้ ค่า ≥ 250 มิลลิกรัม%
- ให้ตรวจสาร ketone ในปัสสาวะ (หลังจุ่มแผ่นทดสอบในปัสสาวะให้รอสังเกตสี 1 นาที ค่อยอ่านผล)
- หากตรวจได้สีชมพูเข้มหรือสีม่วง ให้รีบมาพบแพทย์
- หากตรวจได้สีชมพูอ่อนให้ฉีดอินซูลินเพิ่มจากที่คำนวณได้อีก 1-2 ยูนิต ตามที่แพทย์แนะนำ และนอนพักเยอะๆ ร่วมกับตรวจปัสสาวะซ้ำจนกว่าจะไม่ตรวจพบสาร ketone
- ถ้าไม่พบสาร ketone (ไม่เปลี่ยนสี) ให้ไปออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อถึงเวลาฉีดยาให้ฉีดตามปกติที่คำนวณได้
- ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
อาการฉุกเฉินที่ต้องรีบมาพบแพทย์
หากผู้ป่วยมีอาการของเลือดเป็นกรดรุนแรง (Diabetic ketoacidosis) ได้แก่ อ่อนเพลีย ซึม คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบลึก ปัสสาวะบ่อยและะหิวน้ำบ่อยผิดปกติ หรือตรวจปัสสาวะพบสาร ketone ตั้งแต่ 2+
อาการของเด็กที่เป็นเบาหวาน…เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ( ≤ 70 มิลลิกรัม%)
- ใจสั่น
- มือสั่น
- หิวผิดปกติ
- หน้ามืด เวียนหัว
- เหงื่อแตก
- ซึม ปลุกไม่ตื่น
ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ชักได้
วิธีการแก้ไข ให้รับประทานสิ่งที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลได้ทันที เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- น้ำหวาน 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำครึ่งแก้ว
- ลูกอม 2 เม็ดใหญ่ หรือ4 เม็ดเล็ก (ควรหลีกเลี่ยงถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เพราะอาจสำลักได้)
- น้ำตาล น้ำผึ้ง นมข้นหวาน แยม 2-3 ช้อนชา
- น้ำผลไม้ 1 กล่อง
- น้ำอัดลม 2/3 กระป๋อง
หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงและสามารถใช้น้ำหวานหยอดที่กระพุ้งแก้ม และหลังจากรับประทาน 15 นาที ต้องเจาะน้ำตาลซ้ำหากยังน้อยกว่า70 มิลลิกรัม% ให้กินซ้ำแบบเดิม หากมากกว่า70 ให้ปฏิบัติดังนี้
- กรณีที่ไม่ถึงเวลากินข้าวให้กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น นม 1 กล่อง หรือ ขนมปัง1 แผ่น หรือแครกเกอร์ 4 ชิ้น
- กรณีที่ถึงเวลามื้ออาหารให้ฉีดยาและกินข้าวตามปกติ
อุปกรณ์ และสิ่งที่ต้องเตรียมไปโรงเรียน สำหรับเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
- อุปกรณ์ สำหรับการเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- เครื่องตรวจระดับน้ำตาล
- แถบตรวจวัดระดับน้ำตาล
- เข็มเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว
- สำลีแอลกอฮอล์
- ปากกาฉีดยาอินซูลิน
- อาหารสำหรับแก้ไขน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ลูกอม น้ำหวาน นมกล่อง แครกเกอร์รสจืด
- แถบตรวจสารคีโตน (Ketone) ในปัสสาวะ
กรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กที่เป็นเบาหวาน
- อาการของ DKA (เลือดเป็นกรดรุนแรง) มีอาการ ดังนี้
- ไม่รู้สึกตัว
- หายใจหอบลึก
- สับสน
- คลื่นไส้อาเจียน รุนแรง
- อาการน้ำตาลต่ำรุนแรง
- ซึม ปลุกไม่ตืน
- ชัก
ติดต่อ ศูนย์เบาหวาน และต่อมไร้ท่อในเด็ก โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ โทร 027935099 ต่อ 7010 หรือ 7011