หนุ่มสาวก่อนวัย

30 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ. สิรินยา บุญธนาพิบูลย์ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม

หนุ่มสาวก่อนวัย

หมายถึง ภาวะที่เด็กผู้หญิงมีเต้านมขึ้น ก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง และเด็กชายมีการขยายขนาดของอัณฑะตั้งแต่ 4 มล.ขึ้นไปก่อนอายุ 9 ปี

 

อาการและอาการแสดงของหนุ่มสาวก่อนวัย

เด็กหญิง มีอาการดังต่อไปนี้

  • เริ่มคลำได้ลานเต้านมก่อนอายุ 8 ปี
  • ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อน
  • มีตกขาวหรือประจำเดือนมาก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง
  • มีสิว หน้ามัน กลิ่นตัว ขนรักแร้ ขนที่อวัยวะเพศเกิดขึ้นก่อนอายุ 8 ปี

 

เด็กชาย มีอาการดังต่อไปนี้

  • มีการขยายตัวของอัณฑะหรือองคชาติก่อนอายุ 9 ปี
  • ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อน
  • มีหนวด สิว หน้ามัน เสียงแตก กลิ่นตัว ขนรักแร้ และขนที่อวัยวะเพศก่อนอายุ 9 ปี

 

ในปัจจุบันแนวโน้มอายุที่เด็กเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาวลดลง จากการศึกษาต่างๆเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยทั้ง พันธุกรรม น้ำหนักตัวที่น้อยกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด  lifestyle ที่เปลี่ยนไป เด็กมีภาวะอ้วนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาหารที่มีส่วนประกอบของ phytoestrogen หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม (endocrine disruptor) เป็นตัวกระตุ้น

 

ผลเสียของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

  • เกิดการเชื่อมปิดของกระดูกเร็วไป ทำให้หยุดสูงเร็ว ความสูงสุดท้ายเตี้ยกว่าศักยภาพทางพันธุกรรม
  • ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เด็กมักจะอายเพื่อน เกิดภาวะซึมเศร้า ถูกเพื่อนล้อ
  • วุฒิภาวะที่ยังไม่พร้อมอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ทั้งเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย

 

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยสามารถจำแนกตามสาเหตุได้เป็น 2 ชนิด

  1. การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดพึ่งโกนาโดโทรปินส์ (gonadotropin) หรือ true precocious pubertyหมายถึง ภาวะที่ต่อมใต้สมองมีการทำงานก่อนวัยอันควร สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์มากขึ้น ซึ่งในเด็กหญิงจะไปกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง และในเด็กชายจะไปกระตุ้นให้อัณฑะสร้างฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เกิดภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย โดยภาวะนี้อาจเกิดพยาธิสภาพในสมอง เช่น เนื้องอกหรือซิสต์ในสมอง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เป็นต้น
  2. การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดไม่พึ่ง gonadotropin หรือ peripheral precocious puberty หมายถึงภาวะที่อวัยวะส่วนปลาย เช่น รังไข่ในเด็กหญิง อัณฑะในเด็กชาย หรือต่อมหมวกไต ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ และหมายรวมถึงผู้ป่วยที่เกิดการพัฒนาของลักษณะทางเพศทุติยภูมิจากการสัมผัสถูกฮอร์โมนเพศจากภายนอก

 

แนวทางการวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

  • ซักประวัติตรวจร่างกาย: ประเมินระยะของเต้านมในเด็กหญิงและขนาดของอัณฑะในเด็กชาย
  • ประเมินความผิดปกติของอัตราการเพิ่มความสูงโดยพิจารณาจากกราฟการเจริญเติบโต
  • เอกซเรย์อายุกระดูกเพื่อพิจารณาว่าล้ำหน้ากว่าอายุจริงหรือไม่
  • เจาะเลือดเพื่อประเมินระดับโกนาโดโทรปินส์และฮอร์โมนเพศ
  • เจาะเลือดเพื่อดูระดับสารบ่งชี้มะเร็ง
  • อัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อประเมินขนาด รูปร่างของมดลูกและรังไข่ว่ามีลักษณะที่เข้าสู่วัยสาวแล้วหรือไม่ รวมทั้งตรวจหาเนื้องอกหรือซิสต์ในรังไข่
  • เอ็ม อาร์ ไอ (MRI) สมองและต่อมใต้สมองในเด็กชายทุกคนที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดพึ่งโกนาโดโทรปินส์และในเด็กหญิงที่มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดพึ่งโกนาโดโทรปินส์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6 ปีหรือตรวจร่างกายสงสัยว่ามีพยาธิสภาพในสมอง

 

การรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

สามารถรักษาได้โดยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ (GnRH-analogue)เข้ากล้าม ทุก 4 สัปดาห์ ซึ่งจะไปยับยั้งการหลั่งของฮอรโมนโกนาโดโทรปินส์จากต่อมใต้สมองทำให้รังไข่ในผู้ป่วยเด็กหญิงและอัณฑะในผู้ป่วยเด็กชายสร้างฮอร์โมนเพศได้ลดลง

 

ผลที่ได้รับจากการักษา

  • ชะลอการเป็นหนุ่มสาว อัตราการเพิ่มความสูงจะกลับไปเท่ากับอัตราการเพิ่มความสูงของเด็กก่อนเข้าวัยรุ่น ในเด็กหญิงเต้านมขนาดเล็กลง รายที่เคยมีประจำเดือนจะหายไปใน 2-3 เดือน ส่วนในเด็กชายก็จะชะลอของลักษณะทางเพศทุติยภูมิทั้งขนาดของอัณฑะและองคชาติ สิว หนวด เป็นต้น
  • แก้ไขผลกระทบทางด้านจิตใจและวุฒิภาวะของเด็กที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่วัยหนุ่มสาว

 

ยาจะช่วยชะลอการปิดของกระดูก มีการศึกษาพบว่าเด็กหญิงที่ได้รับการรักษาตั้งแต่อายุก่อน 6 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้น 9-10 ซม.เมื่อเทียบกับในรายที่ไม่ได้รับการรักษา

 

SHARE