สมาธิสั้น ใช่หรือไม่??

15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ. ทรงภูมิ เบญญากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

คิดว่าคุณแม่หลายคนคงแอบช๊อคไม่น้อยเมื่อครูที่โรงเรียนทักมาแบบนี้ในวันประชุมผู้ปกครอง แต่ไอ้เจ้าโรคสมาธิสั้นมันคืออะไร? แล้วลูกเราซนเป็นลิงแบบนี้มันเหมือนเด็กฉลาดตามวัยหรือว่าป่วงจนเป็นสมาธิสั้นกันแน่?

 

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใดครับ จริงๆ มีการพูดถึงโรคนี้ในต่างประเทศมากว่าร้อยปีแล้ว แต่คนมาสนใจโรคนี้มากขึ้นในช่วงหลังเนื่องจากโรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาการเรียน การเข้าสังคม และส่งผลต่อการทำงานในอนาคตครับ ดังนั้นผู้ปกครองก็กังวลว่าลูกจะเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า อยากรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่มีปัญหา

โรคสมาธิสั้นถือได้ว่าเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่งครับ เกิดจากสมองส่วนหน้าทำงานได้ไม่สมพัฒนาการ กล่าวคือโดยทั่วไปสมองส่วนหน้ามีหน้าที่ในการควบคุมความยับยั้งชั่งใจและสมาธิ เมื่อสมองส่วนนี้ทำงานน้อยกว่าวัย ก็เลยทำให้เด็กดูวอกแวกง่าย สนใจสิ่งรอบข้างโดยไม่สนใจสิ่งตรงหน้าเลยแสดงออกมาเป็นอาการโรคสมาธิสั้น

 

โรคสมาธิสั้นมีกี่ประเภท?

ทางการแพทย์แบ่งโรคสมาธิสั้นออกเป็น 2 ชนิดคือ

  • ชนิดขาดสมาธิ
  • ชนิดอยู่ไม่นิ่ง

โรคสมาธิสั้นชนิดขาดสมาธิจะมีอาการเหม่อลอย คิดช้า ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ๆ แต่เด็กสมาธิสั้นชนิดอยู่ไม่นิ่งจะมีอาการยุกยิก ลุกออกจากโต๊ะเรียนบ่อย ๆ รอคอยอะไรนานไม่ได้ โดยเด็กบางคนสามารถมีอาการได้ทั้ง 2 ชนิด

 

วินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร ?

จิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์พัฒนาเด็กจะประเมินอาการจากพ่อแม่ เด็ก รวมไปถึงครู โดยที่ไม่มีการเจาะเลือดหรือเอกซ์เรย์ให้เจ็บตัวแต่อย่างใด เนื่องจากการประเมินต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้นการประเมินครั้งแรกมักใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ขึ้นกับความยากง่ายของคนไข้แต่ละคน

 

รักษาโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร ?

อยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าการรักษาสมาธิสั้นไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป แพทย์มักต้องประเมินถึงความต้องการในการรักษาจากพ่อแม่ รวมถึงความร่วมมือในการกินยาจากเด็ก ดังนั้นมีคนไข้หลายรายที่แพทย์ใช้การปรับพฤติกรรมรวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องการเรียน การจัดตารางชีวิต เมื่อทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง อาการสมาธิสั้นก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในบางรายที่อาการไม่ได้ดีขึ้นแพทย์ก็อาจจะต้องใช้ยาควบคู่

 

ยามีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ?

ยาสมาธิสั้นที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุดคือยา Methylphenidate (ชื่อการค้าคือ Ritalin/ Rubifen หรือ Concerta) ที่อาจมีผลข้างเคียงเช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเป็นไม่นานเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ ร่างกายก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับยาได้ อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง

 

จำเป็นต้องกินยานานแค่ไหน ?

ขึ้นกับอาการของเด็กเป็นหลัก เด็กสมาธิสั้นบางรายที่มีปัญหาเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้นก็อาจจะให้กินยาเฉพาะวันที่ไปเรียน และให้หยุดยาวันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอมได้ แต่บางรายมีปัญหามากต้องกินต่อเนื่อง แพทย์มักพิจารณาหยุดยาในช่วงที่ผู้ป่วยผ่านช่วงวัยรุ่นไปแล้วเนื่องจากสมองส่วนหน้ามีการพัฒนาดีขึ้น อาการของโรคสมาธิสั้นลดน้อยลงตามลำดับ

 

โรคสมาธิสั้นสามารถหายขาดได้หรือไม่ ?

โรคสมาธิสั้นถือได้ว่าเป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายรุนแรงมากเท่าโรคลมชักหรือโรคออทิสติกที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยทั่วไปคนที่มีอาการสมาธิสั้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่อาจมีปัญหาในการเข้าสังคม เช่น ผลัดวันประกันพรุ่ง ทำงานไม่เสร็จ ใจร้อน ทะเลาะเบาะแว้งและมีปัญหาครอบครัวบ่อยครั้ง ดังนั้นถึงแม้ว่าโรคไม่ได้ทำให้เสียชีวิตแต่โรคส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก แพทย์จึงแนะนำให้เด็กที่สงสัยว่ามีอาการสมาธิสั้นได้รับการคัดกรองทุกรายเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

สุดท้ายนี้หมออยากฝากถึงผู้ปกครองที่สงสัยว่าบุตรหลานของท่านมีปัญหาสมาธิสั้นว่าควรนำมาตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 1 ครั้ง แพทย์จะให้คำแนะนำได้ว่าท่านจะมีแนวทางในการดูแลบุตรหลานอย่างไรต่อไป

 

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกพัฒนาการเด็ก และ จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น  ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE