Breath holding spell คือ ภาวะร้องกลั้นในเด็ก มักเกิดหลังจากเด็กกระตุ้นทางอารมณ์ เช่น ตกใจ โกรธ โมโห หรือ เจ็บ
เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี พบบ่อยสุดในช่วง 6 – 18 เดือน โดยพบได้ร้อยละ 5 หรือในเด็ก 100 คน จะพบอาการแบบนี้ประมาณ 5 คน และหายได้เองเมื่อโตขึ้น ภาวะนี้อาจจะมีอาการที่ดูเหมือนน่ากลัว แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากสมองส่วนควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมในครอบครัว
ภาวะร้องกลั้นในเด็กแบ่งตามอาการ ได้ 2 แบบ
- แบบเขียว เรียกว่า Cyanotic breath holding spell โดยเด็กส่วนใหญ่จะมีการร้องไห้มากๆ หลังจากนั้นจะมีการกลั้นหายใจ จนปากเขียวเพราะขาดออกซิเจนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
- แบบซีด เรียกว่า pallid breath holding spell เด็กกลุ่มนี้อาจจะร้องไห้น้อยกว่าแบบแรกหรือไม่ร้องเลย แต่จะมีอาการหน้าซีด และหยุดหายใจตามมา
โดยทั้งสองภาวะนี้เด็กจะกลับมาหายใจได้เองใน 1 นาที แต่ก็ยังมีส่วนน้อยทีมีอาการเป็นนานกว่า 1 นาที และทำให้เกิดภาวะหมดสติหรือมีอาการเกร็งหรือกระตุกเหมือนชักเกร็งร่วมด้วยได้
การดูแลเบื้องต้นสำหรับเด็กที่มีอาการร้องกลั้น
- ให้คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูตั้งสติให้มั่น ไม่ตื่นตระหนก ตกใจ
- จับเด็กนอนหงายบนเตียงหรือพื้นราบ เพื่อให้เลือดได้ไปเลี้ยงสมองได้มากที่สุด
- ไม่ควรอุ้มเขย่าตัวแรง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกคอ หรือ สมองได้ และการทำวิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้อาการที่เป็นหายเร็วขึ้น
- ถ้ามีอาการเป็นอยู่นานเกิน 1 นาที ให้จับเด็กนอนตะแคงข้าง เพื่อช่วยป้องกันการสำลัก
- สามารถใช้ผ้าเย็นเช็ดตามหน้าตามตัวได้
- ไม่ควรเอาสิ่งของใส่ในปาก หรือป้อนเครื่องดื่มใด ๆ
- หลังจากเด็กหายใจปกติแล้ว ให้อุ้มกอด พูดคุยปกติเหมือนสถาณการณ์ปกติ ไม่ควรแสดงอาการตระหนกตกใจให้เด็กเห็น
การป้องกันอาการร้องกลั้น
- ป้องกันสิ่งกระตุ้น ซึ่งก็คือ อารมณ์ต่าง ๆ โดยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิด
- พักผ่อนให้พอเพียง
- ในเด็กโต ฝึกให้รู้จักการผ่อนคลายเมื่อเกิดอาการโกรธหรือขัดใจ ส่วนเด็กเล็ก ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
- สำหรับเด็กที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก ควรพิจารณาให้ธาตุหล็กเสริม
ร้องกลั้นแบบไหนที่ต้องพบแพทย์
- เมื่อเด็กมีอาการบ่อย ๆ หรือเวลาเป็นเป็นอยู่นาน
- ถ้าเด็กมีโรคประจำตัวอื่น โดยเฉพาะ โรคหัวใจ ต้องรีบพามาพบแพทย์ทันที
- เมื่อสงสัยว่ามีอาการชักเกร็งร่วมด้วย
การตรวจวินิจฉัยภาวะร้องกลั้นในเด็ก
จากประวัติและการตรวจร่างกาย สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ แต่ในบางกรณีอาจเป็นอาการที่พบได้จากภาวะอื่น เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ลมชัก จำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมื่อเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ตรวจดูความเข้มข้นของเลือดถ้าพบภาวะซีด