ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็ก

1 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

ไทรอยด์ฮอร์โมน มีหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆในร่างกายทำงาน ที่สำคัญที่สุดคือหัวใจและระบบประสาท ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของกระดูก การเพิ่มความสูงตามวัย พัฒนาการของสมองและกล้ามเนื้อระดับสติปัญญา ควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ระบบการทำงานของหัวใจ การขับถ่าย ระดับไขมันในเลือด

 

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายทุกส่วนรวมทั้งสมองทำงานเชื่องช้า พัฒนาการช้ากว่าวัย บางรายมีอาการตั้งแต่ทารกโดยทารกจะมีอาการตัวเหลืองนาน ผิวแห้ง กระหม่อมปิดช้า สะดือหลุดช้า ท้องผูก ฟันขึ้นช้า บางรายแสดงอาการตอนโตด้วย บางรายมีคอโตร่วมด้วย

 

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยเช่น

* โรคแต่กำเนิด ทารกบางรายอาจไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่องทำให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่า “โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด” (Congenital hypothyroidism)

* การขาดสารไอโอดีน ไอโอดีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ได้รับมาจากการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น เกลือไอโอดีน อาหารทะเล ปลาทะเล (ในเด็กเล็กอาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดาระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร)

* ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมองมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone : TSH) หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติก็จะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนขึ้นมากระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ได้ตามปกติ ส่งผลให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายไม่เพียงพอ

* โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง

* การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

* การฉายรังสีที่บริเวณคอ

* ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

 

สังเกตุได้อย่างไร ว่าลูกอาจมีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ?

* อาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในทารก ทารกที่เกิดมาแล้วต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติอาจมีอาการเริ่มแรกคือ ตัวเหลืองนาน ถ่ายขี้เทาหลังคลอดนานกว่า 48 ชั่วโมง กระหม่อมปิดช้า กระหม่อมกว้าง พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อช้า ท้องผูกเรื้อรัง รายที่เป็นมากมาพบแพทย์ช้าอาจพบมี หน้าบวมฉุ ลิ้นใหญ่คับปาก หัวใจวาย ซึมลง ตัวเตี้ย ภาวะนี้ควรรับการรักษาให้เร็วที่สุด ถ้าทารกยังไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีรูปร่างตัวเตี้ยแคระ พุงป่อง ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ ซึ่งเรียกว่า “สภาพแคระโง่” (Cretinism) หรือ ที่เรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” หัวใจวาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง

* อาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กและวัยรุ่น อาการที่พบบ่อยได้แก่ อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ง่วงนอน นอนมาก การเรียนรู้ช้า น้ำหนักเพิ่ม ใบหน้าฉุ ผมร่วง ผิวหยาบแห้ง เล็บเปราะ ขนคิ้วบาง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ท้องผูกเป็นประจำ ฟันแท้ขึ้นช้า เจริญเติบโตช้า มีรูปร่างเตี้ย ประจำเดือนมาผิดปกติ

 

การวินิจฉัยและรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

* วินิจฉัย โดยอาศัยประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด  และการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

* การรักษา คือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ ให้รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดสังเคราะห์(Levothyroxine) ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายคนปกติ ผู้ป่วยต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ทุกวันและส่วนใหญ่ต้องรับประทานตลอดชีวิต การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ตลอดชีวิตไม่มีผลเสีย เพราะเป็นการชดเชยฮอร์โมนที่ปกติร่างกายต้องการ ผู้ป่วยเด็กควรรับประทานยาฮอร์โมนให้ครบถ้วนเพื่อให้สมองและร่างกายเติบโตและพัฒนาเป็นปกติ ภายหลังจากให้ยารักษาไปแล้วแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการและตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE