ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก มีการพัฒนาทั้งเทคนิคการตรวจรักษา การผ่าตัด เครื่องมือทางการแพทย์และการหาสาเหตุของโรคแบบต่างๆมากมาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นอันตราย ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิต
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เรียกง่ายๆว่า ตรวจทางห้องแลป คือการเอาเลือด น้ำมูก ปัสสาวะ น้ำลาย อุจจาระหรือสารคัดหลั่งต่างๆในร่างกายไปตรวจหาเชื้อโรคที่ทำให้เจ็บป่วย ถ้าแพทย์ทราบเชื้อก่อโรคเร็วก็จะสามารถรักษาได้ถูกต้องและเร็วขึ้น ผู้ป่วยก็จะหายป่วยเร็วขึ้น ระยะเวลาในการนอนรักษาในโรงพยาบาลลดลง
การตรวจแบบรวดเร็ว หรือ Rapid test เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก รวมทั้งผู้ป่วยในที่นอนรักษาในโรงพยาบาลก็ตรวจได้เช่นกัน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไร สามารถตรวจได้เลย และสามารถทราบผลได้เร็วภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ โดยส่วนใหญ่ การตรวจแบบรวดเร็วนี้จะมีความไวในการตรวจพบเชื้อประมาณ 84-100% ความน่าเชื่อถือจำเพาะต่อเชื้ออยู่ที่ 90-100 % จึงยังมีโอกาสผิดพลาดได้บ้าง
ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อที่ต้องสงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรคโดยวิธี Rapid test แพทย์อาจจำเป็นที่ต้องตรวจละเอียดขึ้น โดยเป็นการตรวจที่เป็นระดับมาตรฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเป็นวัน กว่าผลการตรวจจะออก ซึ่งอาจล่าช้าเกินไป การตรวจแบบรวดเร็วจึงเป็นเครื่องมือของแพทย์ที่ช่วยให้การรักษาทำได้เร็วยิ่งขึ้น
การตรวจแบบรวดเร็ว มักจะมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่และมีมาตรฐานที่ดี ดังนั้นการตรวจแบบนี้ อาจไม่สามารถตรวจได้ที่สถานพยาบาลเล็กๆ
การตรวจแบบรวดเร็วที่แพทย์ใช้บ่อยๆ มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น
- ไข้เลือดออก : ใช้เลือดตรวจ มีทั้งการตรวจหาตัวเชื้อโรคและการตรวจภูมิคุ้มกัน( Dengue NS1, Dengue IgG, IgM )
- มือ เท้า ปาก: ใช้เลือดตรวจ Enterovirus 71 IgM
- ไข้หวัดใหญ่ ทั้งสายพันธุ์ A และ B: ตรวจโดยการป้ายน้ำมูกในโพรงจมูก
- RSV , Adenovirus, hMPV ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบโดยป้ายจากน้ำมูกในโพรงจมูก
- ไข้อีดำอีแดง: Strep A rapid test ตรวจโดยป้ายจากเมือกที่ผนังลำคอ
- ตรวจอุจจาระหาเชื้อโรค เช่น โรต้าไวรัส, โนโรไวรัส, เชื้อบิด, พยาธิ
- Mycloplasma : เชื้อแบคที่เรียที่ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โดยป้ายจากเมือกที่ผนังลำคอ ( Mycloplasma Ag) หรือ ใช้เลือดตรวจ Mycloplasma IgM
- โรคฉี่หนู: ใช้เลือดตรวจ Leptospira IgG, IgM
- ภาวะพร่องเอนไซม์ G-6-PD ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดโดยใช้เลือดตรวจ
- ไข้ป่า: โดยใช้เลือดตรวจ Malaria Ag
การตรวจที่กล่าวมานั้นมีหลายวิธีที่ใช้ตรวจ บางอันตรวจจากเลือด บางอันตรวจจากอุจจาระ ทางระบบทางเดินหายใจมักตรวจจากการป้ายน้ำมูกในโพรงจมูก ป้ายเมือกจากผนังลำคอ โดยจะใช้แบบไหนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากทั้งประวัติ การตรวจร่างกายและระยะเวลาที่เป็นโรค เพื่อเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมและให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือที่สุด