ภาวะสมองเสื่อม Alzheimer

20 ก.ย. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

ภาวะสมองเสื่อม คือ การสูญเสียด้านสติปัญญาซึ่งรวมถึงความบกพร่องในการรับรู้ ความสามารถมากกว่าหนึ่งอย่าง และถ้าคงอยู่จะมีความรุนแรงมากพอที่จะเป็นอุปกสรรคในการประกอบกิจวัตรประจำวัน และมักมีอาการ ลุกลาม มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

 

  • ถ้าเช่นนั้นภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคชนิดหนึ่งใช่หรือไม่
    • ไม่ใช่ ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากโรคได้หลายชนิด บางชนิดมีผลต่อความจำเด่น บางชนิดมีผลต่อบุคลิกลักษณะนิสัย ในขณะที่บางชนิดก่อให้เกิดอาการภาพหลอน ประสาทหลอน
  • อย่างโรคอัลไซเมอร์ เป็นแบบหนึ่งใช่ไหม
    • ถูกต้อง โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมากมักเกิดในผู้สูงอายุ หรือ ตั้งแต่กลางคนขึ้นไป แต่ส่วนน้อยอาจเกิดในคนที่อายุไม่มากได้

 

อาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร

 

ในระยะแรก  ผู้ป่วยมักถามเรื่องเดิม คำถามเดิมซ้ำๆ แม้ว่าจะบอกไปเมื่อสักครู่ ลืมว่าเดินมาหยิบอะไร วางของไว้ที่ไหน ลืมปิดเตาแก๊ส ทำกับข้าวแล้วจำไม่ได้ว่าใส่เครื่องปรุงอะไรไปหรือยัง อาการของผู้ป่วยจะชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือ ก่อความลำบากให้กับคนในครอบครัว

 

ในระยะต่อมา อาจนึกคำพูด ชื่อสิ่งของ หรือคนไม่ออก แต่มักไม่ลืมเรื่องรราวในอดีตที่นานมาแล้ว อาจหลงทางบ่อย เริ่มไม่ดูแลตัวเอง ใส่เสื้อผ้าไม่เรียบร้อย อารมณ์รุนแรง มีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายเมื่อไม่ได้ดังใจ หรือ อาจดูเฉยๆ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม

 

ในระยะหลัง จะไม่สามารถดูแลเรื่องส่วนตัว เช่น อาบน้ำ แปรงฟันเองได้ อาจมีอาการหลงสับสน ว่ามีคนจะมาทำร้าย ภรรยานอกใจ ฯลฯ หรือ อาจเฉยเมย

 

ในระยะสุดท้าย จะมีลักษณะเหมือนเด็กเล็ก คือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่พูด บอก หรือ คุยด้วย เป็นภาระแก่คนดูแล และครอบครัวอย่างมาก

 

ภาวะสมองเสื่อม รักษาได้หรือเปล่า

ในสมัยก่อนเรามักไม่ทราบว่าโรคเหล่านี้ สามารถรักษาหรือดูแลได้ แต่ในปัจจุบัน มีการรักษาทั้งด้านการใช้ยา การผ่าตัด และ การบำบัดเชิงจิตประสาท รวมถึงการกระตุ้นด้วย เครื่องกระตุ้นระบบประสาทและสมอง ที่เรียกว่า TMS

บางโรคสามารถรักษาหายขาดได้ บางโรคเราสามารถหยุดการดำเนินโรคได้ หรือ อย่างน้อยที่สุดเราสามารถชะลอการดำเนินโรคให้ผู้ป่วยยังคงช่วยเหลือตัวเอง หรือ มีความสุขกับครอบครัวให้ได้นานที่สุด ซึ่งจะดีมากกว่าการไม่รักษาเลย

 

สงสัยมีคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม

อย่างแรกต้องถามคนรอบข้าง หรือ คนใกล้ชิดว่าลักษณะของสติปัญญาที่ถดถอย หรือ พฤติกรรมที่แปลกไปนั้น มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย การดูแลตัวเอง หรือ ก่อความกังวลต่อคนในครอบครัวหรือไม่ ดูแล้วต่างจากปกติที่ผู้ป่วยเคยเป็นในช่วง 2-3 ปีนี้ หรือไม่ ถ้าใช่ แนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการประเมิน ทั้งในส่วนของการตรวจร่างกาย แบบคำถามทดสอบสมรรถภาพของสมอง และ ตรวจเลือด หรือ ภาพวินิจฉัยของสมองต่อไป โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมอง

 

เริ่มต้นจากความจำเสื่อม และ หลงลืมในผู้สูงอายุ รีบรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตของท่านและผู้ดูแล อย่าให้อัลไซเมอร์ทำลายสมองและชีวิตคุณ…

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมอง

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ