เตรียมป้องกัน! 7 โรคระบาดในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก

26 มี.ค. 2567 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ ศรีนครินทร์

สำหรับน้องหนูวัยเรียนที่ต้องทำกิจกรรมคลุกคลีกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน อาจหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยของโรคติดต่อในเด็กได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้เลย เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่พาน้อง ๆ ไปฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน และหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ ก็จะสามารถช่วยป้องกันการติดต่อของโรคได้ หรืออาจช่วยลดความรุนแรงหากเกิดการติดต่อขึ้นมาจริง ๆ และเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันโรคติดต่อในเด็กกันมากขึ้น เรามี 7 โรคฮิตที่ควรระวังในเด็ก ๆ มาแนะนำกัน แต่จะมีโรคใดบ้างไปเช็กกันเลย

 

รู้ทัน 7 โรคติดต่อในเด็กวัยเรียน

 

1. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายในช่วงสภาวะอากาศชื้นและเย็น ผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม รวมถึงการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน จึงเป็นหนึ่งในโรคระบาดในเด็กที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย เพียงใช้ชีวิตในสถานที่ หรือสัมผัสสิ่งของในบริเวณใกล้กัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เช่น ไอแห้ง จาม มีน้ำมูกใส คัดจมูก หายใจลำบาก เบื่ออาหาร แต่สำหรับในเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงที่นำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ไปจนถึงหัวใจล้มเหลวได้ โดยหากพบอาการที่ไข้สูงผิดปกติ หายใจลำบาก มีเสียงหวีดออกมา ก็ควรพาลูกรักไปพบแพทย์โดยด่วน

 

สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้ด้วยการทำความสะอาดของเล่น ของใช้ และหมั่นล้างมือลูก ๆ เป็นประจำ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นด้วย

 

2. โรคไข้หวัดใหญ่

 

มาถึงโรคที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักอย่าง ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ที่เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจจากเชื้อ Influenza Virus โดยสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งเด็ก ๆ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงมากพอ โดยเชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 1-4 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมกับท้องเสีย ซึ่งสามารถรักษาได้ตามอาการ แต่หากพบว่าเด็กเริ่มมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ประกอบกับการหายใจลำบาก รวมถึงอาจมีอาการชักหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

การป้องกันเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ คือการดูแลความสะอาด หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ รวมถึงควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการติดต่ออยู่เสมอ  นอกจากนี้ ยังควรพาลูกรักไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีด้วย

 

3. โรคมือเท้าปาก

 

หากจะถามถึงโรคระบาดในเด็กที่มักเกิดในฤดูฝน แน่นอนว่าโรคมือเท้าปากก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่เด็ก ๆ มีความเสี่ยง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและผิวหนังจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับละอองสารคัดหลั่ง หรือผ่านการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนมาพร้อมกับเชื้อ จึงมักมีการระบาดในเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากอาการไข้ พร้อมมีผื่นตุ่มใสขึ้นบนปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้าบนร่างกายและอาจมีอาการร่วมกับการปวดท้อง เบื่ออาหาร ซึ่งควรสังเกตอาการให้ดี หากทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

การป้องกันโรคมือเท้าปากก็ไม่ต่างจากโรคติดต่อในเด็กทั่วไป เพียงหมั่นดูแลความสะอาดให้ลูก ๆ อยู่เสมอ หรืออาจหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค

 

4. โรคเฮอร์แปงไจน่า

 

เป็นโรคติดต่อจากเชื้อเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคมือเท้าปาก แต่มีความต่างคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ซึ่งมักแพร่กระจายจากน้ำมูก หรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม โดยอาการของโรค นอกจากจะเจ็บปวดในช่องปากแล้ว ยังอาจมีอาการปวดตามลำตัว รวมถึงอาจมีอาการไข้ร่วมกับอาเจียน แต่หากมีไข้สูงไม่ลดนานมากกว่า 3 วัน พร้อมกับมีภาวะขาดน้ำและเบื่ออาหาร ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา

 

เนื่องจากเป็นโรคจากเชื้อไวรัสเดียวกันกับโรคมือเท้าปาก การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่าจึงมีความคล้ายคลึงกัน คือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่มีเชื้อ รวมถึงควรพยายามปลูกฝังสุขลักษณะให้ลูกน้อย ระวังการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งสกปรกที่อาจมีเชื้อแฝงตัวมาด้วย

 

 

การดูแลลูกรักจากโรคระบาดในเด็ก

5. โรคติดเชื้อไอพีดี

 

แม้ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่โรคติดเชื้อไอพีดีเป็นหนึ่งในโรคที่มีความรุนแรงไม่น้อย โดยเฉพาะกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากนัก ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptococcus pneumoniae หรือ Pneumococcus ที่สามารถเข้าทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรงได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ แต่หากเกิดในเด็กเล็กก็อาจทำให้มีอาการงอแง ซึม ชัก ซึ่งหากเกิดอาการต้องสงสัยใด ๆ ให้รีบพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที เพราะโรคติดเชื้อไอพีดีในเด็กเล็กสามารถแพร่กระจายและลุกลาม จนอาจทำให้เกิดการช็อกและเสียชีวิตได้

 

การป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลความสะอาดและหลีกเลี่ยงการพาลูกเล็กออกไปยังแหล่งชุมชน หรือสถานที่แออัด อีกทั้งยังควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่ 2 เดือน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

 

6. โรคท้องเสียจากการติดเชื้อโนโรไวรัส

 

อาการท้องเสียเป็นหนึ่งในโรคระบาดในเด็กที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อมาจากโนโรไวรัส ส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดโรคอุจจาระร่วงและอาเจียน โดยสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็วแม้ร่างกายจะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อยจากการกินดื่มอาหารที่ติดเชื้อ อีกทั้งยังสามารถติดต่อได้ผ่านทางอากาศ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ร่วมกับการอาเจียน คลื่นไส้ มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จึงควรพาไปพบแพทย์หากเด็กเกิดภาวะถ่ายหนัก หรืออาเจียนไม่หยุด

 

การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการดูแลความสะอาดให้ลูกน้อย พร้อมใส่ใจเรื่องการกิน โดยการเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ อีกทั้งยังควรกำชับให้ลูก ๆ ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นด้วย

 

7. โรคอีสุกอีใส

 

ปิดท้ายด้วยโรคที่คุ้นหูกันดีในวัยเด็กอย่างอีสุกอีใส ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาที่เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ซึ่งจะทำให้เกิดตุ่มแดง กลายเป็นผื่นตุ่มใส ที่จะแตกออกและกลายเป็นสะเก็ดในที่สุด โดยอาการและจำนวนตุ่มจะขึ้นอยู่กับอายุ ดังนั้น อีสุกอีใสในเด็กมักจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับตุ่มจำนวนน้อยเท่านั้น แต่หากเริ่มอายุมากขึ้นตุ่มและไข้ก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโรคนี้สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ง่ายผ่านละอองฝอยสารคัดหลั่งจากการกิน ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสตุ่มน้ำใสของผู้ป่วย โดยอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้ เพียงพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก แต่หากเป็นไข้นานกว่า 4 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันโรคอีสุกอีใสที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยเริ่มฉีดเข็มแรกช่วงอายุประมาณ 1 ปีและฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี

 

หากพบว่าลูกมีอาการป่วย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อในเด็ก ควรพามาพบแพทย์เด็กทันที  เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 02-006-8888

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ