โรคงูสวัดคืออะไร ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น!?

26 มี.ค. 2567 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรคงูสวัด คือโรคที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกกล่าวขานกันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณว่า หากเป็นงูสวัดแล้วก็มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ บทความนี้จะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับงูสวัด เพื่อให้สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

 

โรคงูสวัด คืออะไร?

 

โรคงูสวัด (Herpes Zoster หรือ Shingles) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัสตัวนี้จะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย และคงอยู่ได้นานหลายปี โดยที่ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายเริ่มต่ำกว่าปกติ เชื้อไวรัสตัวนี้ก็จะทำการเพิ่มจำนวน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเส้นประสาทอักเสบ และกลายเป็นโรคงูสวัดโดยทันที

 

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคงูสวัด

 

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยติดเตียง
  • ผู้ป่วย HIV
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง และโรค SLE
  • ผู้ที่พักผ่อนน้อยจนทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายตกต่ำ

 

อาการของโรคงูสวัด

 

ผู้ป่วยโรคงูสวัด จะมีอาการคัน และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังเป็นเวลา 1-3 วัน จากนั้นจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด และผืนแดงจะค่อย ๆ กลายเป็นตุ่มน้ำใส เรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนังที่เป็น แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย และในลำดับต่อมา ตุ่มน้ำใสจะแตกออก จนกลายเป็นแผลแห้งตกสะเก็ด และเริ่มหลุดลอกออกจากผิวหนังภายใน 7-10 วัน หลังจากแผลหายแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการแสบร้อนตามผิวหนังหลงเหลืออยู่

 

 

ตัวอย่างผื่นแดงของผู้ที่ป่วยเป็นโรคงูสวัด

อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวัง

 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หลังจากแผลหายดีแล้ว อาจมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง และอาจยาวนานไปจนถึงตลอดชีวิต ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยอย่างมาก

 

ในกรณีที่ผื่นงูสวัดลามไปขึ้นบริเวณดวงตา ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับตา เช่น ตาอักเสบ หรือ กระจกตาเป็นแผล ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ
หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีในระหว่างที่ตุ่มน้ำใสเริ่มแตกและกลายเป็นแผล อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้

 

งูสวัด อันตรายถึงชีวิต จริงหรือไม่?

 

สำหรับความเชื่อที่ว่า หากเป็นโรคงูสวัดแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเสียชีวิต ความเชื่อนี้เกิดขึ้นจากวิธีรักษางูสวัดในสมัยโบราณ ที่เป็นการเป่าน้ำสมุนไพรลงบนแผลโดยตรง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางผิวหนังสูง

 

ประกอบกับการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว จึงส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง และเสียชีวิตในที่สุด แต่ปัจจุบันนี้ ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า จึงมีการคิดค้นยาที่มีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาอาการและรักษาโรคงูสวัดอย่างได้ผล ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเร็วยิ่งขึ้น

 

งูสวัด เป็นโรคติดต่อหรือไม่? วิธีป้องกันโรคงูสวัด ทำอย่างไร?

 

โรคงูสวัด สามารถติดต่อสู่ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนได้ ผ่านการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่มีเชื้อไวรัสวาริเซลลา และยังสามารถติดต่อแบบแพร่กระจายสู่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผ่านทางการหายใจ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคงูสวัด จึงต้องได้รับการแยกตัวออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

 

อย่างไรก็ตาม โรคงูสวัด เป็นโรคที่สามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเกิดโรค และป้องกันความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ เรายังสามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคงูสวัดได้

งูสวัด รู้ทัน รักษาได้ หากพบอาการผิดปกติ อย่ารอช้า เข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ โรงพยาบาลเขตประเวศชั้นนำ นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 02-006-8888

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ