
รู้จักกับภาวะข้อไหล่หลุด อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย มารู้ถึงอาการบ่งชี้ ความเสี่ยง และแนวทางการรักษาได้ในบทความนี้
ข้อไหล่ ถือเป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย จึงเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายได้ง่ายกว่าข้อส่วนอื่น ๆ ชวนมารู้จักกับ ‘ภาวะข้อไหล่หลุด’ อาการที่ไม่ว่าใครก็เสี่ยงเป็น แต่ถ้าเป็นแล้ว ก็สามารถรักษาได้ ไม่อันตรายอย่างที่คิด มาดูกันว่า ข้อไหล่หลุดมีอาการอย่างไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
ภาวะข้อไหล่หลุด คืออะไร ?
ภาวะข้อไหล่หลุด สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพราะเป็นส่วนข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย ถึงแม้ข้อไหล่จะมีความยืดหยุ่น แต่หากมีพฤติกรรมเสี่ยงก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นลักษณะการหลุดออกจากเบ้ากระดูกของหัวกระดูกข้อไหล่ หรืออยู่ไม่ตรงกับเบ้ากระดูก
โดยส่วนใหญ่อาการไหล่หลุด มักจะเกิดจากทางด้านหน้า เนื่องจากการเคลื่อนตัวผิดท่า รวมถึงความไม่แข็งแรงของเนื้อเยื่ออ่อนรอบกระดูกข้อไหล่ หากเกิดอุบัติเหตุทำให้ฉีกขาด ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการไหล่หลุดได้ง่ายขึ้น
ข้อไหล่หลุด มีอาการเป็นอย่างไร ?
อาการกระดูกข้อไหล่หลุด สามารถสังเกตได้ทั้งจากตาเปล่า และจากอาการบ่งชี้ภายใน ซึ่งเป็นอาการปวดบริเวณรอบข้อต่อ โดยสามารถสรุปอาการได้ดังนี้
- อาการหัวกระดูกหัวไหล่ เกิดหลุดออกจากเบ้าไหล่ ถึงแม้อาการข้อไหล่หลุดมักเกิดจากทางด้านหน้า แต่ก็สามารถหลุดได้ทั้งทางด้านข้าง และด้านหลังอีกด้วย
- ข้อไหล่มีรูปร่างผิดแปลกไปจากเดิม มีก้อนนูนขึ้นมาด้านใดด้านหนึ่ง และด้านฝั่งตรงข้ามและด้านข้างจะแฟบลง
- อาการปวดหัวไหล่และบริเวณรอบข้าง โดยอาการปวดอาจมีความรุนแรงจากอาการไหล่หลุด จนไม่สามารถขยับหรือยกแขนไม่ขึ้น
- เจ็บแปลบ คล้ายมีเข็มทิ่ม หรือรู้สึกถึงอาการเหน็บชารอบข้าง เช่น รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณคอหรือแขน
- กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งหรือกระตุก ทำให้รู้สึกถึงอาการเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่หลุด
ภาวะไหล่หลุด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คนที่มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป คือคนที่ต้องใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ เช่น
- คนที่เล่นกีฬา ที่ใช้กำลังไหล่เยอะ มีการปะทะ กระแทก หรือชนระหว่างเล่น
- นักกีฬาที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะ มีโอกาสเสี่ยงทำให้ข้อต่อช่วงไหล่หลุดได้ง่ายกว่ากีฬาอื่น ๆ
- วัยที่มีการพัฒนาสภาพร่างกายไม่เต็มที่ หรือร่างกายเสื่อมสภาพตามอายุ ก็มีโอกาสที่ไหล่จะหลุดได้หากไม่ระมัดระวัง
- กลุ่มคนที่เป็นโรคภาวะข้อหลวม เพราะข้อต่อจะหลุดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ข้อไหล่หลุด รักษาอย่างไร ?
สำหรับวิธีรักษาอาการไหล่หลุด รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการ สามารถปฏิบัติตามด้วยวิธีเหล่านี้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ห้ามขยับไหล่กลับตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ข้อไหล่หลุด ไม่ควรขยับไหล่ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงส่วนต่าง ๆ บริเวณหัวไหล่ อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้เกิดกระดูกแตกหัก หรือเนื้อเยื่อฉีกขาดเพิ่มเติม จนได้รับบาดเจ็บหนักได้
- ใช้ตัวช่วยเสริมประคองแขน หาที่คล้องแขน หมอน และผ้า มาช่วยประคองที่บริเวณข้อศอก เพื่อป้องกันไม่ให้แขนเคลื่อนไหวหรือขยับมากจนเกินไป และควรจัดให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด
- ทำการประคบเย็น สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณข้อไหล่จากภาวะไหล่หลุด เพื่อบรรเทาอาการปวด สามารถใช้วิธีประคบเย็นก่อนไปพบแพทย์ได้
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมาก ทำให้มีเทคนิคการผ่าตัดที่สามารถช่วยรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคนิคการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก บาดเจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน
สำหรับผู้ป่วยที่เผชิญกับภาวะไหล่หลุด สามารถทำการปฐมพยาบาลและเข้ารับการรักษาได้ที่แผนกกระดูกและข้อตลอด 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
นัดหมายหมอข้อและกระดูกออนไลน์
หรือโทรนัดหมายและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-793-5000