
โรคหอบหืด: สาเหตุ อาการ และการป้องกัน
โรคหอบหืด หนึ่งในโรคเรื้อรังที่หลายคนมักละเลยมากที่สุด เพราะด้วยอาการของโรคที่มักมาเป็นพัก ๆ ไม่ได้เป็นอยู่ตลอด และบางคนอาจไม่ทันได้สังเกตว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้ เพราะระยะเริ่มแรกอาจมีแค่อาการเหนื่อยง่ายเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วโรคนี้ถือเป็นโรคที่รุนแรง เพราะหากอาการกำเริบเฉียบพลัน อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
บทความนี้ชวนมารู้จักกับโรคหอบหืด ทั้งสาเหตุและอาการที่ควรระวัง พร้อมแนวทางการป้องกันไม่ให้โรคกำเริบรุนแรง
โรคหอบหืด คืออะไร?
โรคหอบหืด (Asthma) คือ หนึ่งในโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ และไอเรื้อรัง
โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงเฝ้าระวังและหาวิธีป้องกันเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องคอยสังเกตอาการหอบหืดอย่างใกล้ชิด และหมั่นปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสที่อาการจะถูกกระตุ้นให้กำเริบ
อาการของโรคหอบหืด
- ไอเรื้อรังและมีเสมหะ โดยเฉพาะตอนออกกำลังกายหรือตอนกลางคืน
- หายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด หายใจมีเสียงหวีด
- แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ
โดยปกติแล้ว อาการหอบหืดมักจะกำเริบในบางฤดู เช่น กำเริบเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง หรือ กำเริบเมื่อเจอกับสิ่งกระตุ้นบางชนิด เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือ ควันบุหรี่ ซึ่งหากอาการกำเริบรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้ ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุของโรคหอบหืด
- สภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ทำให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก
- สารก่อภูมิแพ้ในชีวิตประจำวัน เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ขนสัตว์ และมลพิษในอากาศ
- เชื้อไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศ ซึ่งผู้ป่วยอาจรับเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม
- ภาวะกรดไหลย้อน
- ความเครียด
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
- การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
แนวทางการรักษา
- การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นจึงทำการตรวจอย่างละเอียด โดยการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ออกไป ซึ่งการตรวจสมรรถภาพปอดนั้น เป็นวิธีที่สามารถระบุโรคหอบหืดได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถนำข้อมูลที่ได้ ไปวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในลำดับต่อไป
- การรักษาด้วยยา
สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด แพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยยา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ยาบรรเทาอาการฉับพลัน และ ยาควบคุมการอักเสบในระยะยาว
-
- ยาบรรเทาอาการฉับพลัน คือ ยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมขยายตัว ช่วยบรรเทาอาการไอและเหนื่อยหอบ แต่ไม่มีผลในการระงับอาการหลอดลมอักเสบ จึงควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น
- ยาควบคุมการอักเสบในระยะยาว คือ ยาชนิดสูดพ่น ที่มีส่วนประกอบของสเตอรอยด์ มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของหลอดลม จะได้ผลก็ต่อเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
*การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการ จากนั้นจึงใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยหอบหืด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบรุนแรง
- หมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการ ควรใช้ยาบรรเทาอาการตามที่แพทย์สั่งทันที
- หลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการหอบหืด เช่น ทำความสะอาดบ้านเพื่อกำจัดไรฝุ่น หรือ งดอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หาวิธีรับมือกับความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- เฝ้าระวังอาการของโรคกรดไหลย้อน
- เข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- หายใจลำบาก แม้จะใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำ
- หายใจมีเสียงหวีดมากผิดปกติ
- ไอเรื้อรังจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกหายใจลำบาก ติดขัด เหนื่อยหอบ หรือมีอาการไอมากผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา โรงพยาบาลแถววัดสายไหม
นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-006-9999