เมื่อพูดถึงอาการปวดท้อง ท้องเสีย เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยเป็นกันอย่างแน่นอน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เป็นอยู่นั้น เป็นแค่อาการท้องเสียธรรมดา หรือเป็นโรคที่อันตรายกว่านั้นอย่างโรคลำไส้อักเสบ แล้วโรคลำไส้อักเสบมีอาการอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด และจะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง บทความนี้มีเกร็ดข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับโรคนี้มาฝากกัน
ลำไส้อักเสบมีอาการอย่างไร?
โรคลำไส้อักเสบหรือ Ulcerative Colitis มีชื่อเต็มว่าโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ จัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) เหตุผลที่ชื่อว่าลำไส้อักเสบ ก็เพราะเป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นในบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่และไส้ตรง หากปล่อยทิ้งไว้ สามารถลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของลำไส้ได้ รวมถึงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ ลำไส้ตีบตัน และเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาการของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เบื้องต้นอาการมีลักษณะคล้ายกับโรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวารหนัก และโรคลำไส้แปรปรวน แต่โรคลำไส้อักเสบถือว่ามีความรุนแรงกว่ามาก ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจเสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบ ได้แก่
ระบบขับถ่ายผิดปกติ มีอาการท้องเสียกะทันหัน ถ่ายมีมูกเลือดปน หรือในผู้ป่วยบางราย อาจพบอาการท้องผูกได้เช่นกัน
- มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
- มีไข้สูงหรือไข้ต่ำ แล้วแต่บุคคล ร่วมกับอาการหนาวสั่น
- รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดเกร็งบริเวณท้อง คล้ายกับท้องโดนบีบ ซึ่งเกิดจากลำไส้บีบตัว และอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อร่วมด้วย
- มีอาการทางระบบอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดบริเวณข้อต่อ เป็นแผลในปาก ตาอักเสบ
- หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยด่วน เพราะหากท้องเสีย และอาเจียนอย่างรุนแรง ไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับ
- ประทานอาหารได้ อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดภาวะช็อกได้
โรคลำไส้อักเสบเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคลำไส้อักเสบมีอยู่หลายประการ โดยสาเหตุที่พบบ่อย มีดังต่อไปนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ร่างกายคิดว่าลำไส้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงก่อให้เกิดอาการอักเสบขึ้น คล้ายกับโรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรค SLE แต่โรคลำไส้อักเสบจะเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อ Norovirus มักมีการระบาดในช่วงฤดูหนาว อาการท้องเสียและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อชนิดนี้จะมีระยะเวลาฟักตัว 12-48 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไป และอาการท้องเสียจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค แพทย์จะรักษาตามอาการและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำเท่านั้น
- การรับประทานอาหารรสจัด อาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน หรืออาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ผักดิบ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน เช่น เนื้อแดง ชีส ขนมปัง ลูกเกด ลูกพรุน ผักตระกูลกะหล่ำ นม และอัลมอนด์
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม โรคแทรกซ้อน ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสี การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด และเส้นเลือดอุดตันจนเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงลำไส้ได้เพียงพอ
วิธีรักษาโรคลำไส้อักเสบ
ปัจจุบัน โรคลำไส้อักเสบมีวิธีรักษา 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การรักษาตามอาการ การให้ยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัด ซึ่งแต่ละวิธี มีรายละเอียดที่ควรรู้ ดังนี้
- การรักษาตามอาการ: เป็นการรักษาด้วยยาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาลดอาการอักเสบ ยาแก้ท้องเสีย ยาระงับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ควบคู่ไปกับการป้องกันภาวะขาดน้ำจากอาการท้องเสียและอาเจียน
- การให้ยาปฏิชีวนะ: กรณีที่เป็นโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อและควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคได้
- การผ่าตัด: หากเป็นโรคลำไส้อักเสบระยะรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน หรือเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเพื่อนำลำไส้ที่อักเสบออกไป มีทั้งการผ่าตัดลำไส้ออกไปทั้งหมด และผ่าตัดต่อลำไส้ เอาเฉพาะส่วนที่อักเสบออกเท่านั้น
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าโรคลำไส้อักเสบ เป็นกี่วันหาย คำตอบก็คือหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงภายใน 1 สัปดาห์ แต่ก็มีโอกาสจะเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน เพราะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลตนเองอยู่เสมอ
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อคุณเป็นโรคลำไส้อักเสบ
“เป็นลำไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร?” อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่ผู้ป่วยทุกคนอยากรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี หากคุณเป็นโรคลำไส้อักเสบ เราแนะนำให้ปฏิบัติตัวง่าย ๆ ตาม 3 แนวทางนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงของหมักดอง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารที่มีกากใยสูง รวมถึงรับประทานอาหารปริมาณน้อยลง แต่เพิ่มความถี่ของมื้ออาหารให้มากขึ้น โดยอาหารที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาการอักเสบ ได้แก่ ถั่ว อะโวคาโด แคร์รอต กล้วย ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากระพง และอาหารที่มีโอเมก้า 3
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ดีขึ้น
- รักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย ป้องกันร่างกายได้รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นอันตราย
หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคลำไส้อักเสบ หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและภายในช่องท้อง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก หรือคลำพบก้อนบริเวณท้อง สามารถนัดหมายเข้ามาตรวจวินิจฉัยและรับคำปรึกษาจากคุณหมอเฉพาะทางช่องท้อง ระบบทางเดินอาหาร ก่อนอาการลุกลามจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้ที่ศูนย์โรคปวดท้อง โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา ให้คำปรึกษาและการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center เบอร์ 02-006-9999