รู้ทันโรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่คนไม่ติดบุหรี่เสี่ยงเป็นได้

12 มิ.ย. 2567 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ ลำลูกกา

รู้ทันโรคถุงลมโป่งพอง ภัยร้ายที่คนไม่ติดบุหรี่เสี่ยงเป็นได้

หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง แต่อาจไม่เคยรู้ว่าความจริงแล้วโรคนี้ เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และส่วนใหญ่ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านมลพิษ สารเคมี ควันรถยนต์ หรือแม้แต่ควันจากการประกอบอาหาร

ดังนั้น เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายของโรคกันมากขึ้น เราจะพาไปรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงอาการและแนวทางการรักษา ติดตามกันได้เลย

 

รู้จักโรคถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง คือโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) เป็นภาวะที่ถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากกว่าปกติ เนื่องจากการอักเสบและแตกของเนื้อปอดที่บริเวณถุงลมปอด จนกลายเป็นถุงเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายพวงองุ่น เมื่อรวมกับถุงลมที่อยู่ใกล้เคียงจะทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ผิวในปอดลดน้อยลง ก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ จนทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

 

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง

ถึงแม้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่โรคนี้ยังเกิดได้อีกหลายปัจจัย โดยสาเหตุที่พบบ่อย มีดังต่อไปนี้

 

  • มลพิษในอากาศ เช่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งหากสูดเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • ควันจากการทำอาหาร ผู้ประกอบอาชีพค้าขายอาหารเป็นประจำทุกวัน อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
  • ควันจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากผู้ที่อาศัยใกล้กับโรงงานจะได้รับผลกระทบแล้ว ผู้ที่ทำงานในโรงงานก็มีความเสี่ยงของการเกิดโรคด้วยเช่นกัน

 

สังเกตอาการของโรคถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพองมีอาการที่สามารถพบได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

 

  • อาการเหนื่อย มักจะเหนื่อยหอบได้ง่าย หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบากเมื่อต้องออกแรงทำงานหนัก หรือถ้ามีอาการของโรครุนแรง เพียงนั่งพักเฉย ๆ ก็สามารถเกิดอาการเหนื่อยได้
  • อาการไอ มักมีอาการไอแบบเรื้อรัง ในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รวมถึงมีเสมหะใส ๆ ร่วมกับอาการป่วย เช่น เป็นหวัดได้ง่าย

นอกจากอาการทั้ง 2 ส่วนนี้ ยังสามารถพบอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการเกิดโรคได้ด้วยเช่นกัน

 

ผู้หญิงสวมหน้ากากเพื่อปกป้องตนเองจากมลพิษบนท้องถนน

แนวทางการรักษาโรคถุงลมโป่งพอง

หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าเป็นโรคถุงลมโป่งพองแล้วจะอยู่ได้กี่ปี คงต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของโรค การดูแลตนเอง รวมถึงการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยผู้ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ควรได้รับการรักษา ด้วยวิธีเหล่านี้

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและพบว่ามีภาวะถุงลมโป่งพอง สิ่งสำคัญประการแรกที่ควรต้องทำคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่

 

  • เลิกสูบบุหรี่ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโรค
  • พยายามหลีกเลี่ยงการสูดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อปอด หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันมลพิษให้มิดชิด

 

รักษาด้วยยา

หากผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เนื่องจากการตีบของหลอดลม การหดเกร็งของกล้ามเนื้อบุหลอดลม และการอุดตันของเสมหะในหลอดลม จำเป็นต้องใช้ยา 5 ประเภท ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ ต้องอยู่ภายในความดูแลและการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น มีดังต่อไปนี้

 

  • ยาลดการอักเสบ ได้แก่ ยาที่ลดปฏิกิริยาการอักเสบ
  • ยาขยายหลอดลม
  • ยาละลายเสมหะ
  • ยาฆ่าเชื้อโรค สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อโรคในทางเดินหายใจและปอด

 

การฉีดวัคซีน

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง มักเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดและปอดอักเสบได้ง่าย จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วย รวมถึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

การบำบัด

ส่วนการรักษาด้วยวิธีการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายนั้น แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตามในเรื่องเหล่านี้

 

  • ออกกำลังกายที่มีความหนักในระดับปานกลาง เช่น การเดิน เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ให้มีความแข็งแรงขึ้น
  • เนื่องจากผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง มักมีน้ำหนักตัวลดลง จึงต้องดูแลด้านโภชนาการเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติ
  • เข้ารับการบำบัดด้วยออกซิเจน สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ

 

การผ่าตัด

หากผู้ป่วยที่มีภาวะถุงลมโป่งพองที่ค่อนข้างรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดปอดในส่วนที่ได้รับความเสียหายออก และทำการปลูกถ่ายปอดใหม่ เพื่อให้ปอดสามารถกลับมาใช้งานได้

 

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือสามารถเข้ารับการปรึกษาและตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา โรงพยาบาลใกล้ BTS สถานีคูคต รักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง

นัดหมายแพทย์ออนไลน์ หรือปรึกษาได้ที่ Call Center 02-006-9999

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ