อาการท้องผูกเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง?
อาการท้องผูก หนึ่งในสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร หากปล่อยไว้จนมีอาการเรื้อรัง อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายของอาการท้องผูกกันมากขึ้น บทความนี้ จะพาไปรู้ถึงสาเหตุ และความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงวิธีการรักษามาบอกกัน
ท้องผูกเกิดจากอะไร?
ท้องผูก คือภาวะที่เบ่งอุจจาระไม่ออก หรือไม่ได้มีการขับถ่ายติดต่อกันนานหลายวัน ซึ่งหากปล่อยไว้ให้เรื้อรัง จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย รวมไปถึงคุณภาพการใช้ชีวิตได้ โดยอาการท้องผูกเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนใหญ่ จะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย รวมไปถึงรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมมากจนเกินไป อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่น้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก
การใช้ยาบางชนิด
ผู้ที่ต้องบำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาความดันโลหิตบางกลุ่ม ยารักษาอาการทางจิตเวช ยารักษามะเร็งบางชนิด รวมไปถึงยาลดกรด ยาลดการเกร็งของทางเดินอาหาร ยาเคลือบกระเพาะ และยาบำรุงที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ มีโอกาสที่จะเกิดอาการท้องผูกซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาได้
โรคประจำตัวบางโรค
การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรืออยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล และส่งผลต่อการขับถ่ายอุจจาระ
การทำงานของลำไส้ผิดปกติ
หากการทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือมีภาวะลำไส้เฉื่อย ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวได้น้อย จะส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนที่ในลำไส้ได้ช้า จนกลายเป็นปัญหาท้องผูกได้
ท้องผูกมีอาการอย่างไร?
สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าตนเองเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังหรือไม่ ให้สังเกตจากอาการเหล่านี้
- ความถี่ในการถ่ายอุจจาระลดน้อยลง หรือมีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระแข็งก้อนใหญ่ถ่ายไม่ออก หรือออกเป็นเม็ดเล็ก ๆ
- เบ่งอุจจาระไม่ออก หรือใช้เวลาในการเบ่งนาน
- เจ็บขณะถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดปน
- มีอาการท้องอืด ปวดท้อง เกร็งหน้าท้อง
โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องผูก
อาการท้องผูกไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวดขณะขับถ่าย และนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เป็นผลข้างเคียงด้วย
โรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งเป็นผลจากการเบ่งอุจจาระแรง ๆ เป็นเวลานาน สร้างความรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณที่เป็น และอาจมีเลือดออกขณะที่ขับถ่าย
โรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคหัวใจและหลอดเลือด หากท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระรุนแรง และเป็นเวลานาน ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้โรคหัวใจกำเริบ อีกทั้งยังจะส่งผลให้อาการทรุดหนักขึ้นได้
โรคลำไส้อุดตัน
หากขับถ่ายไม่ออก จะทำให้เกิดการสะสมของอุจจาระในลำไส้ จนก่อให้เกิดโรคลำไส้อุดตัน มีอาการปวดท้อง อึดอัด และแน่นท้อง ถ้ารุนแรงจำเป็นต้องผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป
โรคกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
การเบ่งอุจจาระแรง ๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ไม่กระชับ และหย่อนคล้อย และส่งผลให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
โรคไส้เลื่อน
อีกทั้งการใช้แรงเบ่งถ่ายอุจจาระแรง ๆ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง หากปล่อยทิ้งไว้ จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลำไส้ขาดเลือดจนเน่าหรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
วิธีการรักษาและป้องกันอาการท้องผูก
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ถ้าไม่อยากจะเผชิญกับอาการท้องผูก สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ รวมถึงควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences : NAS) และสถาบันแพทยศาสตร์ (The Institute of Medicine : IOM) ได้ให้คำแนะนำในการดื่มน้ำเอาไว้ ดังนี้
- ผู้หญิงควรดื่มวันละประมาณ 2.7 ลิตรต่อวัน
- ผู้ชายควรดื่มวันละประมาณ 3.7 ลิตรต่อวัน
นอกจากนี้ ต้องไม่กลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน หากรู้สึกปวด ควรเข้าห้องน้ำทันที และยังควรหมั่นออกกำลังกาย และขยับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมให้การเคลื่อนที่ของลำไส้เป็นปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดภาวะอุจจาระตกค้างในลำไส้ได้
รักษาโดยการใช้ยาช่วยขับถ่าย
ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว หรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ รวมถึงยากลุ่มที่กระตุ้นให้มีการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่บางตัวเข้าไปในลำไส้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลและแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง
รักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้า อีกทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ทำให้อาการดีขึ้น แพทย์อาจวินิจฉัยและตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม เพื่อรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดลำไส้ในขั้นตอนต่อไป
ปัญหาท้องผูกเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่จะละเลยไปได้ เพราะอาจสร้างผลกระทบต่อร่างกายของเราในระยะยาว และหากใครมีอาการท้องผูกบ่อยอย่าปล่อยทิ้งไว้ มารับการตรวจวินิจฉัยและรักษากับหมอเฉพาะทางทางเดินอาหาร ที่ศูนย์โรคปวดท้อง โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา เราพร้อมให้การดูแล
นัดหมายแพทย์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-006-9999