อาหารเป็นพิษเกิดขึ้นจากอะไร มีวิธีป้องกันรักษาอย่างไรบ้าง?

26 มี.ค. 2567 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ ลำลูกกา

อาหาร ปัจจัยสี่ที่มนุษย์ทุกคนขาดไม่ได้ เพราะต้องนำพลังงานและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่บางครั้ง การรับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหรือมีวิธีการปรุงที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราได้ จนทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) ในที่สุด

 

ในบทความนี้ ขอชวนทุกคนมารู้ถึงสาเหตุ ลักษณะอาการของอาหารเป็นพิษ และวิธีรักษา รวมถึงมีสิ่งใดที่เราควรหลีกเลี่ยงเพื่อให้ห่างไกลจากอาการอาหารเป็นพิษบ้าง ติดตามกันเลย

 

อาหารเป็นพิษคืออะไร อาการเป็นอย่างไร?

 

อาหารเป็นพิษ คือภาวะที่ร่างกายได้รับน้ำหรืออาหารที่มีสารปนเปื้อนเข้าไป ทำให้เกิดอาการผิดปกติภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจากภาวะอาหารเป็นพิษจะมีอาการเหล่านี้

 

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ

สาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ

 

ดังที่กล่าวไปว่า อาหารเป็นพิษเกิดจากการได้รับเชื้อโรคจากอาหารหรือน้ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

 

  • การปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ด้วยวัตถุดิบหรือพื้นผิวของอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
  • อาหารได้รับความร้อนไม่เพียงพอ หรือถูกวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
  • การใช้สารเคมีเป็นส่วนผสมในอาหารโดยไม่ได้ระวัง เช่น การใช้สารกันบูดในปริมาณที่เกินจำเป็นเพื่อรักษาความสด

 

จะสังเกตได้ว่า สาเหตุสำคัญที่มักทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ คือการไม่ใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหาร อีกทั้งหลาย ๆ คนอาจคิดว่า อากาศที่ร้อนระอุในประเทศไทย สามารถช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ แต่แท้จริงแล้วอุณหภูมิ 25-40 องศาเซลเซียสของอากาศบ้านเรา เป็นอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เราจึงต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารมากที่สุด

 

มีอาการเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์

 

โดยทั่วไป ภาวะอาหารเป็นพิษจะมีอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่หากพบว่ามีอาการรุนแรงมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เช่น อาการเหล่านี้
ถ่ายท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือดหรือเป็นมูก

 

  • อาเจียนรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • มีภาวะขาดน้ำรุนแรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม รวมถึงมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยล้า จนอาจเกิดหน้ามืด เวียนศีรษะ หมดสติ
  • แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก
  • มีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง
  • มีไข้สูง เกิน 38.9 องศาเซลเซียส

 

วิธีรักษาภาวะอาหารเป็นพิษ

 

ส่วนใหญ่แล้ว อาการอาหารเป็นพิษจะสามารถหายเองได้เองหากไม่มีอาการรุนแรง โดยมีวิธีรักษาเบื้องต้นตามอาการ เช่น

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู
  • ดื่มน้ำเกลือแร่ ชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการอาเจียนและท้องเสีย
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารทอด อาหารมัน อาหารเผ็ด อาหารดิบ นม กาแฟ ชา
  • แพทย์จะใช้วิธีให้การรักษาตามอาการ

 

รักษาความสะอาด ดูแลให้ห่างไกลอาหารเป็นพิษ

อยู่อย่างไร ห่างไกลภาวะอาหารเป็นพิษ?

 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าหากต้องการป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ ควรกินอะไรดี ซึ่งเราสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเริ่มจาก

 

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

 

การรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ยังไม่สุกดี มักมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดสามารถทนต่ออุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงได้ การปรุงอาหารด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ หรือใช้เวลาในการปรุงเร็วเกินไป ก็อาจไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคทั้งหมดได้ ทางที่ดีที่สุด ก่อนรับประทานอาหารใดก็ตาม ต้องมั่นใจแล้วว่า อาหารที่คุณเลือกได้รับการปรุงสุกมาแล้วอย่างดี เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

 

เลือกทานอาหารที่ปรุงสดใหม่อย่างถูกสุขอนามัยเท่านั้น

 

แน่นอนว่าการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้ห่างไกลจากภาวะอาหารเป็นพิษได้ แต่ทั้งนี้ ในขั้นตอนการประกอบอาหาร ก็ควรเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อสังเกตถึงความสดใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น รวมถึงรักษาความสะอาดทั้งในขั้นตอนการเตรียม ปรุง และเก็บรักษาอาหาร โดยสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้

 

  • เตรียม ตรวจสอบพื้นที่ รวมถึงวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการประกอบอาหารให้เรียบร้อยว่าสะอาด ได้มาตรฐาน และควรหมั่นล้างมือในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังสัมผัสเนื้อสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ปรุง อาหารให้สุกอย่างทั่วถึงทั้งชิ้น ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิที่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ คืออุณหภูมิที่สูงกว่า 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป และไม่เฉพาะกับอาหารที่ปรุงสดใหม่เท่านั้น หากต้องการอุ่นอาหารที่ทำเตรียมรอไว้ ก็ต้องอุ่นด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปด้วยเช่นกัน
  • เก็บรักษาอาหาร หากเป็นอาหารทั่วไป ควรเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า แต่หากต้องการแช่แข็งเพื่อยืดอายุของวัตถุดิบ ก็ควรใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียสลงไป อีกทั้งอาหารยังควรถูกจัดเก็บอย่างมิดชิดในถุงซิปล็อก หรือกล่องถนอมอาหารโดยเฉพาะ เพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังสัมผัสสิ่งปนเปื้อน

 

เนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ง่าย การล้างมือจึงเป็นวิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราต้องล้างอย่างสม่ำเสมอก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงในขั้นตอนการทำที่ต้องสัมผัสกับวัตถุดิบและอุปกรณ์ครัวด้วย จึงควรฟอกสบู่ให้ทั่วมือ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว เล็บ และหลังมือ เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าไปปนเปื้อนในบริเวณที่ไม่คาดคิด

 

ได้รู้จักและเรียนรู้ถึงวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะอาหารเป็นพิษกันไปแล้ว แต่หากใครที่ไม่ทันระวัง จนทำให้ต้องเจอกับอาการอาหารเป็นพิษก็อย่านิ่งนอนใจ รีบมารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีที่ศูนย์โรคทางเดินอาหารและปวดท้อง โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา ให้การรักษาโดยหมอระบบทางเดินอาหารผู้ชำนาญการ มั่นใจในความปลอดภัยด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เครื่องมือทันสมัย นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 02-006-9999

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ