
"ไส้ติ่งอักเสบ"
เป็นโรคปวดท้องเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด ที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัยอาการปวดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะการอักเสบของไส้ติ่ง
หากเริ่มมีอาการติดเชื้อรุนแรงอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
ไส้ติ่งอักเสบ คืออะไร
ไส้ติ่งอักเสบ คือ ไส้ติ่งซึ่งเป็นอวัยวะเล็ก ๆ รูปทรงคล้ายนิ้วมือ อยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวา เกิดการอักเสบ และจะทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาในทันที อาจจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
อาการไส้ติ่งอักเสบ
- เริ่มจากการปวดรอบๆ สะดือ คล้ายคนท้องร่วงแต่ถ่ายไม่ออกจากนั้นจะย้ายมาปวดที่ท้องน้อยขวา และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถเคลื่อนไหว
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร ท้องอืด
หากท่านสังเกตว่ามีอาการที่กล่าวมา ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
อาการของไส้ติ่งอักเสบมีกี่ระยะ
อาการของไส้ติ่งอักเสบมีกี่ระยะ จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า อาการจะไม่ได้เหมือนกันทุกคน แต่โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากปวดท้องรอบสะดือ หลังจากนั้นการปวดจะย้ายที่มายังบริเวณท้องน้อยด้านกว่า มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูกสลับท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ระยะของไส้ติ่งที่อักเสบ มี 2 ระยะหลัก ๆ ได้แก่
- ระยะแรก : ไส้ติ่งเริ่มเกิดการอุดตัน ผู้ป่วยจะปวดท้องรอบสะดืออย่างฉับพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- ระยะที่สอง : ไส้ติ่งเริ่มบวม ผู้ป่วยจะปวดท้องน้อยด้านขวามาก ยิ่งถ้ามีการเคลื่อนไหว จาม จะทำให้ปวดมากขึ้น อาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้ไส้ติ่งอักเสบ
1. เศษอุจจาระที่แข็งตัว หรือ เศษอาหารตกไปในไส้ติ่งทำให้แบคทีเรียเข้าไปจนเกิดการอักเสบ
2. ก้อนเนื้องอก พยาธิในลำไส้
การรักษาผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ
การรักษาไส้ติ่งอักเสบที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด เพราะไส้ติ่งอักเสบไม่สามารถรักษาด้วยการกินยาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบัน รพ.สินแพทย์
มีนวัตกรรมการผ่าตัดเพื่อรักษาไส้ติ่งอักเสบทางกล้อง Minimal Invasive LC Lap Appendectomy เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผิวหนัง
เป็นรูเล็กๆเพื่อสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง โดยมีแผลเล็กขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ทำให้เกิดแผลเล็ก เจ็บน้อย
และฟื้นได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทั้งยังลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ รวมถึงไม่เกิดรอยแผลขนาดใหญ่
แบบการผ่าตัดเปิดช่องท้องอีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากไส้ติ่งอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนจากไส้ติ่งอักเสบ มักจะเกิดในตอนที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาได้ทันเวลา จนเกิดภาวะไส้ติ่งแตก ซึ่งเมื่อเกิดภาวะดังกล่าวแล้ว จะทำให้เชื้อโรคไปยังส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และเกิดอาการแทรกซ้อนเพิ่มเติมจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น
– เยื่อบุบริเวณช่องท้องอักเสบ : เชื้อจากไส้ติ่งแตกจะแพร่ไปยังเนื้อเยื่อภายในช่องท้อง ทำให้เกิดความอักเสบ ปวดท้องรุนแรง มีไข้ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจหอบ ถี่ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจจะส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้
– เกิดฝีในช่องท้อง : ฝีในช่องท้อง เกิดจากการต่อสู้ของเชื้อโรคภายในร่างกาย ไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง หากผู้ป่วยมีฝีในบริเวณช่องท้อง อาจจะต้องต่อท่อระบายหนองประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับกำจัดเชื้อ
ตำแหน่งของไส้ติ่ง
ตำแหน่งของไส้ติ่ง ไส้ติ่งเป็นติ่งที่ยื่นออกมาเป็นกระเปาะจากลำไส้ใหญ่ บริเวณท้องด้านขวาล่าง ลักษณะเป้นท่อปลายตัน มีทางเข้าออกด้านเดียว หากมีก้อนอุจจาระ อาหารที่ย่อยไม่ละเอียด หรือเมล็ดผลไม้ เข้าไปทำให้เกิดการอุดตัน ทำให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไส้ติ่งอักเสบ (FAQ)
อาการไส้ติ่งอักเสบในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร?
ไส้ติ่งอักเสบของผู้ใหญ่กับเด็กจะมีอาการแตกต่างกัน เพราะเด็กจะมีอาการที่ไปใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ ได้ หากสงสัยว่าเด็กอาจจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ สามารถสังเกตได้จาก เด็กเบื่ออาหาร มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ร้องไห้ผิดปกติ ถ่ายเหลวโดยไม่มีสาเหตุ ปวดท้องตัวงอตลอดเวลา หรืออีกวิธีคือคลำบริเวณท้องด้านขวาล่าง หากเด็กมีอาการเกร็งหรือต้านแรงมือ นั่นหมายถึงเด็กรู้สึกเจ็บ และยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นไส้ติ่งอักเสบได้
การป้องกันไส้ติ่งอักเสบทำได้หรือไม่?
ยังไม่มีวิธีไหนสามารถป้องกันไส้ติ่งอักเสบได้ แต่การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง จะเกิดอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบต่ำกว่าผู้ที่ทานน้อย หรือไม่ทานเลย
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์หากสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ?
อาการที่ควรพบแพทย์ทันที คือ ปวดท้องด้านขวาล่าง ปวดบิดจนตัวงอ ปวดมานานกว่า 6 ชั่วโมงแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะวินิจฉัยผ่านการสอบถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ถ้าหากพบว่าเม็ดเลือดขาวสูงเกิดค่าปกติ จะบ่งบอกว่าร่างกายมีภาวะอักเสบติดเชื้อ ตรวจปัสสาวะเพื่อหาเม็ดเลือดแดงและขาวในการแยกโรคอื่น ๆ เพิ่มเติม และยังดูภาวะขาดสมดุลของน้ำภายในร่างกาย นอกจากนี้อาจจะมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์อย่างเหมาะสม
แอดไลน์ ID line: @synphaetline
.