หมอนรองกระดูกเสื่อม เกิดจากอะไร มีแนวทางการรักษาอย่างไร?
หลายคนที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาอย่าชะล่าใจ เพราะอาจไม่ใช่อาการปวดจากกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมก็เป็นได้ เพื่อให้คุณเข้าใจว่าโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงมีอาการอย่างไร เราจะพาไปรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค พร้อมแนวทางการรักษามาบอกกัน จะได้คอยหมั่นสังเกตอาการ ก่อนยากที่จะแก้ไข!
รู้จักโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) คือภาวะที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก รวมถึงกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับกระดูกสันหลังโดยรวม โดยโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม (Degenerative Disc) นั้น เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกหรือชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลัง ที่ทำหน้าที่ในการช่วยลดแรงกระแทกได้เสื่อมสภาพลง จึงทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการรองรับน้ำหนัก ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเกิดการทรุดตัว รวมถึงความสูงของหมอนรองกระดูกก็จะเตี้ยลง จึงเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรัง และความเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจตามมา
สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
โรคหมอนรองกระดูกเสื่อมมีสาเหตุมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ
- อายุ
อายุที่เพิ่มมากขึ้น ถือว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรค เนื่องจากโดยปกติแล้ว หมอนรองกระดูกเสื่อมจะเริ่มเสื่อมสภาพเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป และจะยิ่งเสื่อมสภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- น้ำหนัก
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคคือเรื่องของน้ำหนักตัว เนื่องจากหมอนรองกระดูกมีหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักส่วนบนของร่างกาย โดยเฉพาะเวลาที่เรานั่งหรือยืน หากน้ำหนักตัวยิ่งมาก แรงกดทับก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
- กิจกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
การขยับเขยื้อนร่างกายในแต่ละวันก็ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย การก้ม ๆ เงย ๆ อยู่เป็นประจำ หรือต้องยกของหนักบ่อยครั้ง รวมไปถึงการนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หมอนรองกระดูกต้องทำงานอย่างหนัก และเสื่อมสภาพได้ง่ายมากขึ้น
- อุบัติเหตุ
สำหรับผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ และได้รับบาดเจ็บบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังมาก่อน จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคง่ายกว่าคนทั่วไป
อาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม จะแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก หมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่งเริ่มเสื่อมสภาพ จึงไม่มีอาการใด ๆ
- ระยะที่สอง มีอาการปวดหลัง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อหลัง ปวดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อม โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ จะไม่หายไปเอง แต่จะเป็นแบบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ระยะที่สาม เป็นอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมรุนแรง โดยอาการจะทรุดหนัก เพราะหมอนรองกระดูกสันหลังได้ไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดร้าวลงขาเหมือนโดนไฟช็อต ชาขาหรือชาเท้า กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระอีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
ปรับพฤติกรรม
หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม แนวทางการรักษาแรกที่ต้องทำคือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ รวมถึงการยกของหนัก และไม่นั่งในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูก
รับประทานยา
ผู้ป่วยสามารถรับประทานยา NSAIDS และยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
กายภาพบำบัดและใช้เสื้อพยุงหลัง
อีกหนึ่งวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด คือการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะใช้เสื้อพยุงหลังช่วยในการรักษา เพื่อเป็นการลดแรงดันในหมอนรองกระดูกสันหลัง อีกทั้งยังจะช่วยจำกัดความเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังได้อีกด้วย
ผ่าตัด
ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการปวดอย่างรุนแรง และรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด โดยแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง (Fusion)
- การผ่าตัดโดยใช้หมอนรองกระดูกเทียม (Total Disc Replacement)
ภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกหากปล่อยเอาไว้ อาการก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ หากท่านใดมีอาการปวดหลังเรื้อรังหรือปวดร้าวลงขาเป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมก็เป็นได้ อย่าปล่อยไว้ รีบเข้ามารับการตรวจอย่างละเอียดได้ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา โรงพยาบาลแถวธัญบุรี ที่พร้อมให้การดูแลและรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายเข้าพบแพทย์ได้ที่เบอร์ 02-006-9999