โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และแนวทางรักษา

18 ก.ย. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

รู้จักโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS: Polycystic Ovary Syndrome) พร้อมแนวทางการรักษาในบทความนี้



รู้ไหม ? หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากได้ แต่สงสัยกันไหมว่าสาเหตุของโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS: Polycystic Ovary Syndrome) คืออะไร มีแนวทางในการรักษาอย่างไร รวมถึงหากต้องการมีบุตร จะต้องรักษาด้วยวิธีไหนบ้าง ไปหาคำตอบกัน

 

วงจรของประจำเดือนเป็นอย่างไร ?

ประจำเดือน คือ เลือดที่ออกจากโพรงมดลูกเป็นรอบ ๆ ห่างกันทุก 28 วัน คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ในบางคนอาจจะมีรอบเดือนห่างกันทุก 21-35 วันก็ได้ ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากประจำเดือนมาห่างเกินระยะเวลาดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้

 

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง คืออะไร ?

ในผู้ป่วยบางรายที่พบว่าประจำเดือนมาห่างเกินไป เราเรียกภาวะความผิดปกตินี้ว่า ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ซึ่งก็คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการที่ไข่ตกไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกเลย รวมถึงเกิดเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ โดยมักพบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้หญิงวัยในเจริญพันธ์ุ ซึ่งโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) จะมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยระยะห่างในแต่ละเดือนมากกว่า 35 วัน หรือขาดหายไปนานกว่า 3 เดือน รวมถึงประจำเดือนมาน้อยกว่า 8 รอบในระยะเวลา 1 ปี
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หลังที่ขาดหายไปเป็นระยะเวลานาน
  • มีภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากการตกไข่ที่ไม่ปกติ
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • ขนขึ้นเยอะ ที่แขน ขา ลำตัว มีหนวด เป็นสิว ศีรษะล้าน หรือผมบาง เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายที่สูงมากขึ้น

 

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ มีสาเหตุมาจากอะไร ?

สำหรับสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สามารถเกิดได้จากปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้

 

  • เกิดภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) มากเกินไป แสดงให้เห็นได้จากอาการต่าง ๆ เช่น หน้ามัน สิว ขนดก ผมร่วง และศีรษะล้าน
  • ภาวะดื้ออินซูลิน มีสาเหตุมาจากน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจึงผลิตอินซูลินออกมา แต่ไม่สามารถตอบสนองกับอินซูลินเหล่านั้นได้ ทำให้มีปริมาณอินซูลินมากจนเกินไป ส่งผลให้รังไข่ถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมา ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะไปรบกวนการตกไข่ กลายเป็นภาวะไข่ไม่ตกตามปกติ
  • น้ำหนักตัวที่ผิดปกติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน โดยน้ำหนักน้อยเกินไปอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ขณะที่น้ำหนักเกินจะเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งส่งผลต่อการตกไข่ได้เช่นกัน
  • การออกกำลังกายหักโหม โดยเฉพาะในนักกีฬาอาชีพ อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดลง
  • ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นภาวะที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนและหยุดการตกไข่ก่อนวัยหมดประจำเดือนปกติ อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือโรคบางชนิด
  • เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะค่อย ๆ ลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการตกไข่ลดลง จนในที่สุดก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อฮอร์โมนอื่น ๆ รวมถึงฮอร์โมนควบคุมการตกไข่ด้วย
  • หากร่างกายเผชิญกับภาวะเครียดสูง จะปลดปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากเกินไป และฮอร์โมนชนิดนี้ จะไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่ได้

 

ผู้หญิงพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) รักษายังไง ?

สำหรับโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง มีแนวทางการรักษา ดังต่อไปนี้

 

ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยรักษาสมดุลระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
  • ควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง
  • ผ่อนคลายจากความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น ทำสมาธิ ฝึกโยคะ ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ หรือออกไปท่องเที่ยว
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

 

เสริมวิตามิน D

วิตามินดีมีคุณประโยชน์ในด้านของการปรับสมดุลฮอร์โมนให้แก่ร่างกาย ซึ่งรวมถึงฮอร์โมนที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดภาวะไข่ตกตามปกติด้วย

 

การรับประทานยา

ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ด้วยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนโปรเจสติน เพื่อลดฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสตินยังมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้อีกด้วย

 

แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง สำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก

หากพบว่าเกิดภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังและต้องการมีลูก สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาและใช้เทคนิคทางการแพทย์ในการช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้

 

  1. การให้ยากระตุ้นการตกไข่ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนบางประการได้
  2. การทำ IUI (Intrauterine Insemination) คือกระบวนการผสมเทียมภายในร่างกาย โดยการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่มดลูก หลังจากมีการกระตุ้นให้ไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิตามธรรมชาติ
  3. การทำ IVF (In vitro fertilization) เป็นกระบวนการที่แพทย์ จะนำไข่และน้ำเชื้อมาผสมกันภายนอกร่างกาย เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จนถึงระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วค่อยนำไปฝังยังโพรงมดลูก เพื่อการเจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป

 

ทั้งหมดนี้คงทำให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังกันมากขึ้น และถ้าหากพบว่าตนเองมีประจำเดือนมาไม่ปกติ และเกิดความสงสัยว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายของเราหรือไม่ สามารถมาขอคำปรึกษาและตรวจภายในที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐม กับแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม ได้เลย ทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมให้บริการ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายแพทย์ได้ที่เบอร์ 034-271-999

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ