‘กระดูกพรุน’ คือ ภาวะที่กระดูกเสื่อมและบางลง เนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะหรือหักได้ง่าย ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็ต่อเมื่อมีอาการกระดูกหักหรือแตกแล้ว พบได้บ่อยบริเวณ กระดูกสันหลัง สะโพก และกระดูกข้อมือ
ปัจจัยเสี่ยง‘โรคกระดูกพรุน’
- สตรีวัยหมดประจำเดือน
- อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
- ขาดสารอาหารวิตามินดี หรือแคลเซียม
- ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
- สูบบุหรี่
- ไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายเป็นเวลานาน เช่น นอนรักษาตัว หรือใส่เฝือกนาน
การป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุน
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ให้มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บร็อคโคลี่ คะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น
- ลดอาหารที่มีไขมันมาก เพราะไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
- ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาลูกกลอน เพราะมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ อาจทำให้กระดูกพรุนไม่รู้ตัว
การดูแลร่างกายตัวเองร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์จะช่วยให้สามารถควบคุมและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้