อันตรายของภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมแนวทางการรักษา

15 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

รู้ทันปัญหาภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณแม่ตั้งท้องและทารกในครรภ์ มารู้ถึงสาเหตุของอาการ พร้อมแนวทางการรักษากันได้ในบทความนี้



สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ย่อมมีหลายเรื่องที่ต้องคอยเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายของตนเอง รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และหนึ่งในภาวะอันตรายที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจ และคอยสังเกตอาการไว้ก็คือ “ภาวะรกเกาะต่ำ”

ในบทความนี้ จะพาทุกคนไปรู้กันกับภาวะรกเกาะต่ำมีอาการและสาเหตุมาจากอะไร และหากตรวจพบว่าเกิดภาวะนี้ ต้องดูแลตนเองอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้เลย

 

รู้จักภาวะรกเกาะต่ำ

“รก” เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับสายสะดือ มีหน้าที่ในการนำสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ และยังช่วยกำจัดของเสียออกจากเลือดของทารก ซึ่งปกติแล้วรกจะต้องอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก

ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) คือการที่รกเกาะต่ำลงมาบริเวณส่วนล่างของมดลูก จนปิดขวางปากมดลูก ซึ่งเป็นช่องทางในการคลอดทารกเอาไว้ จึงเสี่ยงต่อการมีเลือดออกช่องคลอด และเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

 

ภาวะรกเกาะต่ำมีสาเหตุมาจากอะไร ?

ภาวะรกเกาะต่ำมีสาเหตุมาจากตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ฝังตัวอยู่ที่บริเวณมดลูกส่วนล่าง ซึ่งเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น หรือคุณแม่มีอายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น รกจะขยายตัวและปิดขวางบริเวณปากมดลูก อีกทั้งยังอาจเกิดได้จากความผิดปกติของรก คือรกใหญ่กว่าหรือบางกว่าปกติ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

 

  • ผนังมดลูกเกิดแผลจากการผ่าคลอด หรือจากการขูดมดลูก เนื่องจากเกิดภาวะแท้ง การไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงผนังมดลูกไม่ดี เนื่องจากมีเนื้องอกในมดลูก หรือเป็นเบาหวาน
  • ทารกในครรภ์อยู่ในตำแหน่งผิดปกติ เช่น อยู่ในท่าก้นลง หรือท่าขวาง
  • ตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์ที่ 2 เป็นต้นไป
  • มดลูกผิดรูปร่าง มีขนาดใหญ่ผิดปกติ
  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีอายุตั้งแต่ 35 ปี
  • ผลข้างเคียงจากการสูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด

 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่คอยเฝ้าระวังภาวะรกเกาะต่ำ

ภาวะรกเกาะต่ำมีอาการอย่างไร ?

ภาวะรกเกาะต่ำ อาการส่วนมากมักแสดงออกมาในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสิ่งผิดปกติเหล่านี้

 

  • มีเลือดไหลออกมาจากทางช่องคลอด ในปริมาณเล็กน้อยไปจนถึงมาก โดยเลือดจะหยุดไหลช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาไหลอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 2-3 วัน หรือสัปดาห์
  • มักมีอาการปวดเล็กน้อย รู้สึกเจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย หรือบางรายอาจไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ เลย

 

ภาวะรกเกาะต่ำกับอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

  • เสี่ยงต่อการตกเลือดรุนแรง นำไปสู่ภาวะช็อกจากการเสียเลือดได้
  • เสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด และส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
  • เกิดภาวะติดเชื้อหลังคลอดได้ง่าย เนื่องจากมีเส้นเลือดที่แตกออกในบริเวณใกล้ปากมดลูก

 

ภาวะรกเกาะต่ำกับอันตรายต่อทารกในครรภ์

  • เพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิต เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด
  • ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ตามอายุครรภ์ และยังเจริญเติบโตช้า
  • เสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคประสาทส่วนกลาง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

 

การดูแลแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ และมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย คุณแม่ยังมีโอกาสคลอดลูกทางช่องคลอดได้ตามปกติ แต่ต้องดูแลตนเองเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการมีเลือดออกทางช่องคลอดรุนแรง ดังนี้

 

  • พยายามนอนนิ่ง ๆ พักอยู่บนเตียงที่บ้าน และเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด ลุกขึ้นนั่งในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น
  • ไม่ทำงานหนัก ยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนัก หลีกเลี่ยงการขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวร่างกายมากจนเกินไป
  • ห้ามมีเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด

ในกรณีที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก ควรนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และรับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดมากที่สุด

 

แนวทางการรักษา

  • รักษาแบบประคองอาการ ด้วยการให้ยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
  • เตรียมความพร้อม เผื่อกรณีผ่าคลอดหากจำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และทารกเป็นสำคัญ

 

ฝากครรภ์ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ

คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ ด้วยการฝากครรภ์กับแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยแพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูสุขภาพของทารกและตำแหน่งของรก รวมถึงน้ำคร่ำ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลครรภ์ อีกทั้งคุณแม่ยังควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของตนเองอย่างใกล้ชิด ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดให้มาพบแพทย์ทันที

 

สำหรับคุณแม่ที่สังเกตเห็นความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงต่อแม่และเด็กในครรภ์ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวชได้ที่ คลินิกหมอสูตินารีกาญจนบุรี โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

 

นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 034-912-888

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ