หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน มาดูกันว่า โรคนี้เกิดจากอะไร มีอาการใดที่ต้องระวัง และมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง
หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูกคอเสื่อม คือหนึ่งในโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน ซึ่งในระยะแรกเริ่มอาจมาพร้อมกับอาการปวดเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จนถึงขั้นอัมพาตได้เลยทีเดียว มาดูกันว่า หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท มีอาการอย่างไร และมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง
สัญญาณเตือน “หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท“
- อาการบริเวณคอ
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณคอเรื้อรัง จนลามไปถึงช่วงหลังและไหล่ แม้จะบรรเทาด้วยการใช้ยาทาแก้ปวดหรือการฝังเข็ม อาการปวดก็ยังกลับมาอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายขาด
- อาการบริเวณแขน
อาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณแขน มีด้วยกันทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ อาการปวด ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไล่ลงมาจนถึงข้อศอกและนิ้วมือ ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจไม่สามารถใช้งานนิ้วมือได้เหมือนเดิม เช่น ไม่สามารถจับปากกา หรือติดกระดุมได้
- อาการบริเวณขา
นอกจากอาการปวดบริเวณคอและแขน ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ยังอาจมีอาการผิดปกติบริเวณขาได้เช่นกัน เช่น ขาตึงผิดปกติ หรือ ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ ทำให้รู้สึกเหมือนจะล้มอยู่ตลอดเวลาในระหว่างที่เดิน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หมอนรองกระดูกคอเสื่อมสภาพ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงาน เช่น การก้มหน้าบ่อย ๆ หรือ การนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ
- เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ
อาการที่บอกว่าต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
- ปวด คอ บ่า ไหล่ นานกว่า 1 เดือน และปวดมากขึ้นเมื่อขยับคอ
- มีอาการเกร็งที่บริเวณคอคล้ายไฟฟ้าช็อต จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- ปวดคอร้าวลงแขน รวมถึงมือและนิ้วมือ นานกว่า 1 เดือน
- มีอาการเหน็บชาที่แขน มือ หรือเท้าบ่อย
- ใช้งานมือได้ไม่ถนัด การทรงตัวไม่ดีและเดินผิดปกติ
หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทกับการรักษา
โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท สามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นวิธีรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง หรือเพิ่งเริ่มมีอาการไม่นาน โดยสามารถทำได้ทั้งการทำกายภาพบำบัด การรับประทานยาแก้ปวด และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ท่านั่ง ท่านอน ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว
- รักษาด้วยการฉีดยา
การรักษาด้วยการฉีดยา คือ การที่แพทย์จะทำการฉีดยาสเตียรอยด์ไปยังจุดที่ทำให้เกิดอาการปวด เช่น โพรงกระดูกสันหลัง หรือ ข้อต่อกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ โดยผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค
- รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์จะพิจารณาให้ทำ เมื่อภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมอยู่ในระดับที่รุนแรง จนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันนี้ ทำให้การผ่าตัดกลายเป็นเรื่องที่ง่าย ด้วยขนาดแผลที่เล็กลง และผลลัพธ์หลังการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การดูแลตัวเองหลังรักษาหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หลีกเลี่ยงการก้มหน้าเป็นเวลานาน ๆ การนั่งทำงานในท่าเดิม และการสะบัดคออย่างรุนแรง
- ออกกำลังกาย
ทำการบริหารกล้ามเนื้อคอด้วยท่าที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
- ปรับเปลี่ยนท่านอน
หลีกเลี่ยงการนอนหมอนสูง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อคอทำงานหนักเกินไป
ใครที่กำลังเผชิญกับอาการปวดคอเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ สามารถเข้าปรึกษาได้ที่ แผนกออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี เรามีหมอกระดูกกาญจนบุรีที่พร้อมให้บริการด้านการวินิจฉัยและตรวจรักษาอย่างครอบคลุม
นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 034-912-888