ชวนมารู้จักกับ "ฮอร์โมนเพศหญิง" สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจ เพื่อช่วยให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสม
ในร่างกายของเรามีสิ่งที่เรียกว่า “ฮอร์โมน (Hormone)” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยชรา โดยฮอร์โมนแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป วันนี้เราขอชวนมารู้จักกับ “ฮอร์โมนเพศหญิง” สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจ เพื่อช่วยให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสม
รู้จักฮอร์โมนเพศหญิง
ฮอร์โมนในเพศหญิง มีชื่อเรียกว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
- สะโพกผาย
- หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น
- มีขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ
- เสียงแหลมเล็ก
นอกจากหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้
- ควบคุมการผลิตคอเลสเตอรอลในระบบหัวใจและหลอดเลือด
- มีส่วนช่วยในการรักษาคอลลาเจนในกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ
- ทำงานร่วมกับระบบประสาทและสมอง ในการรักษาสมดุลด้านอารมณ์และจิตใจ
ซึ่งการที่ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเช่นนี้ การรักษาระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่สมดุล จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากฮอร์โมนผิดปกติ อาจทำให้ผู้หญิงเผชิญอาการที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตประจำวันได้
เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไป จะเกิดอาการอะไรบ้าง ?
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- นอนหลับยาก
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
- มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย ในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะมา เช่น ตัวบวม น้ำหนักขึ้น คัดตึงที่เต้านม และปวดไมเกรน
- เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกที่มดลูก รังไข่ หรือเต้านม
เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำเกินไป จะมีอาการอย่างไร ?
- นอนหลับยาก
- กระดูกเปราะ เสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย
- ช่องคลอดแห้งและฝ่อตัว
ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนขาดความสมดุล
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
- ความเครียดสะสม
- การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น
- การใช้ยาบางชนิด
การดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายเกิดความเครียดสะสม และหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามากเกินไป จนไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง และทำให้ฮอร์โมนขาดความสมดุลได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรออกให้ได้ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถเลือกออกกำลังกายได้หลายวิธี ตามแต่ความถนัด ไม่ว่าจะเป็น การเล่นโยคะ เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง
- ใส่ใจกับการรับประทานอาหาร
อาหารที่มีรสหวานจัด มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นอาหารที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมน ดังนั้น การหันมาใส่ใจกับการรับประทานอาหาร จึงเป็นวิธีที่จะช่วยควบคุมให้ฮอร์โมนเพศหญิงกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล เช่น การเพิ่มโปรตีนในมื้ออาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานและอาหารที่มีไขมันสูง และลดปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้อ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ปัญหาระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่ไม่สมดุล อาจมีผลมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป จนทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ เราจึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ฮอร์โมนทำงานได้ดี และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปรึกษาเรื่องสุขภาพสตรีได้ที่ แผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี มีทั้งทีมแพทย์พร้อมให้คำปรึกษา และคลินิกตรวจภายในกาญจนบุรี ที่ให้บริการดูแลรักษาโรคทางนรีเวชอย่างครอบคลุม
นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 034-912-888