
ไขข้อสงสัยเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนกังวลใจ มาดูกันว่า ประจำเดือนมามาก อันตรายไหม และลักษณะของประจำเดือนแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ พร้อมแนวทางการรักษา
เรื่อง “ประจำเดือน” คือเรื่องที่ผู้หญิงต้องใส่ใจ เพราะหากประจำเดือนมามากผิดปกติเมื่อไร อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงได้
แล้วประจำเดือนมามากแบบไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ และจะมีอาการอะไรบ้างที่ต้องระวัง หาคำตอบได้ที่นี่
รู้ก่อนดีกว่า ประจำเดือนมามากแบบไหนที่ไม่ปกติ
- ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน จากเดิมที่เคยมา 4-5 วัน
- ประจำเดือนมามากระหว่างวัน จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
- ประจำเดือนมามากอย่างต่อเนื่อง จนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน
- ถึงแม้จะอายุเข้าสู่วัยทอง แต่ประจำเดือนกลับมามากกว่าปกติ ทั้งที่ควรจะน้อยลง
- พบว่าลิ่มเลือดที่ไหลออกมาพร้อมเลือดประจำเดือน มีขนาดใหญ่มากขึ้น
ประจำเดือนมาเยอะ เกิดจากอะไร ?
- ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
โดยปกติแล้ว ในร่างกายของผู้หญิงจะมีฮอร์โมนสำคัญที่ชื่อว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ลักษณะทางเพศ และการมีประจำเดือน ซึ่งหากฮอร์โมนนี้ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลให้เกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกหนาจนเกินไป ทำให้ประจำเดือนมาเยอะกว่าที่ควรจะเป็น และก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลียง่าย นอนหลับยาก
- ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก
เนื่องจากประจำเดือน คือเลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน จากการที่ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ดังนั้น หากมดลูกมีความผิดปกติ ก็ย่อมส่งผลต่อการมีประจำเดือนตามไปด้วย เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก มะเร็งปากมดลูก และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
นอกจากความผิดปกติทางด้านร่างกาย ภาวะประจำเดือนมามาก ยังเกิดได้จากการใช้ยาบางประเภท ที่ส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย เช่น ยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด ยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาเคมีบำบัด
- ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ
ในผู้ป่วยบางรายที่เผชิญกับอาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ระบบในร่างกายทำงานบกพร่อง เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือ การติดเชื้อในช่องคลอด ก็มีโอกาสที่ประจำเดือนจะมาผิดปกติได้เช่นเดียวกัน
การตรวจวินิจฉัย เมื่อประจำเดือนมามากผิดปกติ
การตรวจภายใน
การตรวจภายใน เป็นการตรวจพื้นฐานสำหรับความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ โดยแพทย์จะทำการตรวจดูช่องคลอด มดลูก และรังไข่ เพื่อหารอยแผลและก้อนเนื้อที่น่าสงสัย รวมถึงการกด คลึง ที่ผิวด้านนอกบริเวณใกล้กับรังไข่ เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือไม่
การอัลตราซาวนด์
หากพบความผิดปกติจากการตรวจภายใน เช่น มีก้อนเนื้อหรือมีอาการเจ็บเมื่อถูกกด แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยการอัลตราซาวนด์สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ การอัลตราซาวนด์ผ่านหน้าท้อง และ การอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด
อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ควรระวัง
นอกจากภาวะประจำเดือนมามาก ยังมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้าย ซึ่งผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตอยู่เสมอ
- มีอาการปวดท้องมากระหว่างเป็นประจำเดือน
อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน เป็นอาการทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการที่กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว เพื่อขับเลือดและเนื้อเยื่อที่หลุดลอกให้ไหลออกมา แต่หากอาการปวดท้องนั้นรุนแรงจนทำให้หน้ามืด เป็นลม ก็อาจบ่งบอกถึงโรคทางนรีเวชที่ต้องได้รับการตรวจรักษาโดยด่วน
- ลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติ
ปกติแล้วประจำเดือนจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสดหรือสีแดงเข้ม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ประจำเดือนมาเยอะ มีลักษณะเป็นก้อน มีสีดำคล้ำ และมีกลิ่นแรงผิดปกติ ก็อาจบ่งบอกถึงการอักเสบภายใน หรือการติดเชื้อบางชนิด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว
- ปัสสาวะบ่อย
อาการปัสสาวะบ่อย ก็เป็นอีกหนึ่งอาการผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นอาการที่เกิดจากภาวะช่องคลอดอักเสบ หรือเกิดจากการมีเนื้องอกอยู่ในมดลูก ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองปวดปัสสาวะถี่ผิดปกติ แม้จะไม่ได้ดื่มน้ำมาก หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคร้ายแรง
- เจ็บลึก ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์
อีกหนึ่งอาการที่บอกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมดลูก ก็คืออาการเจ็บลึก ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ และบางครั้งยังส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงอีกด้วย
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดท้องจนทนไม่ไหว หรือประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ที่ แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี คลินิกตรวจภายในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ให้บริการดูแลโรคสำหรับสุภาพสตรีอย่างครอบคลุม
นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 034-912-888