โรคฮิต ต้อนรับเปิดเทอม

16 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

เมื่อลูกน้อยเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ย่อมอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะที่โรงเรียนมักมีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำร่วมกัน บางครั้งอาจมีความใกล้ชิดสัมผัสตัว หรือจับสิ่งของโดยไม่ทันได้ระวังเรื่องเชื้อโรค หรือโรคติดต่อ ทำให้ลูกน้อยย่อมเผชิญอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ซึ่งเราควรทำความรู้จักโรคยอดฮิตในช่วงเปิดเทอม เพื่อสังเกตอาการ และป้องกันไว้

โรคไข้หวัดใหญ่

เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ผ่านการสัมผัสละอองฝอยที่อยู่ในอากาศ หรือสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย การไอจาม โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง น้ำมูกไหล

ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

เราสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์

โรคไข้เลือดออก

พบมากในช่วงฤดูฝน มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยนำเชื้อไวรัสเดงกีมาสู่ผู้ที่ถูกกัด สำหรับเด็กที่เป็นไข้เลือดออก จะมีอาการไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลีย   มีผื่น จุดแดงขึ้นตามผิวหนัง ซึม อ่อนเพลีย

และถ้าหากมีอาการอาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด เด็กอาจเกิดภาวะช็อค ควรรีบพบแพทย์ด่วน

การป้องกันไข้เลือดออก สามารถทำได้โดยการระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

โรคอาหารเป็นพิษ

มีสาเหตุมาจากการทานอาหาร และน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารพิษจากแบคทีเรีย นอกจากนี้  การหยิบจับของสกปรกหรือการจับของเล่นเข้าปาก ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้เช่นกัน

ผู้ป่วยมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย

คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็ก ๆ เลือกรับประทาอานหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานของที่หล่นพื้น และล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้ง

โรคตาแดง

มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสที่เยื่อบุตา สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสขี้ตา หรือน้ำตาของคนที่เป็นโรคตาแดง โดยจะมีอาการเคืองตา ปวดตา ตาบวมแดง คันตา มีน้ำตาไหล และมีขี้ตามากกว่าปกติ

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นให้ลูกน้อยล้างมือสะอาดด้วยสบู่และน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา

โรคมือ เท้า ปาก

เป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสในลำไส้แบบฉับพลัน และการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง

เช่น น้ำลาย ตุ่มพอง น้ำมูก เด็กมักมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ไม่ยอมทานข้าว มีตุ่มแผลอักเสบในปากหรือในคอ มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว

วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก คือ ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน ไม่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย

 

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติหรืออาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแนวทางการรักษา

 

 ด้วยความห่วงใย จาก…โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี   

 พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวชกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ