โรคฮิตในเด็ก ที่มาพร้อมฤดูหนาว

22 พ.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

เมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง เข้าสู่ฤดูหนาว หลาย ๆ คนอาจชอบที่อากาศเย็นสบาย แต่สภาพอากาศเช่นนี้ ก็ทำให้ร่างกายป่วยได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสแพร่กระจายในอากาศหนาวได้เป็นอย่างดี จึงอาจส่งผลให้เกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่สภาพร่างกายยังปรับตัวไม่ดีพอ

โรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังในเด็กเล็กในช่วงฤดูหนาว มีดังต่อไปนี้

  1. โรคไข้หวัด : สามารถพบได้ทุกฤดู แต่จะเป็นง่ายและบ่อยขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศเย็นทำให้ติดเชื้อและป่วยได้ง่ายขึ้น ไข้หวัดสามารถติดต่อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะ

อาการ :  คัดจมูก น้ำมูกใส จาม ปวดศีรษะ ไข้ไม่สูงมากประมาณ 1 – 2 วัน

การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หมั่นรักษาความสะอาดของใช้ ล้างมือบ่อย ๆ

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ : มีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาการรุนแรงกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) มี 2 ชนิด คือ A และ B  สามารถติดต่อผ่านน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย

อาการ :  ปวดศีรษะ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ และไอแห้ง บางรายคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวร่วมด้วย

การป้องกัน :  ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถกลายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

  1. โรคปอดบวม : มีสาเหตุมาจากภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่ปอดจนกลายเป็นหนองที่ถุงลม ทำให้ปอดไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ

อาการ :  ไอ คัดจมูก จาม มีเสมหะมาก ไข้สูงนานกว่า 2 วัน มีอาการหนาวสัน แน่นหน้าอก รู้สึกเหนื่อยหอบง่าย หายใจลำบาก

การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรค หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แอดอัด 

  1. โรคหัด : เกิดจากการเชื้อรูบีโอลาไวรัส (Rubeola Virus) มักระบาดช่วงปลายฤดูหนาว สามารถติดต่อได้ทั้งการไอ จามรดกันโดยตรง ละอองเสมหะในลมหายใจ น้ำมูก น้ำลายที่ลอยในอากาศ

อาการ :  มีไข้สูง 3 – 4 วัน มีน้ำมูก ไอแห้ง ซึม เบื่ออาหาร ตาแดง มีผื่นแดงเป็นจุดเล็ก ๆ ขึ้นที่หลังใบหู ใบหน้า ลามไปทั่วร่างกาย อาจพบตุ่มที่กระพุ้งแก้ม และฟันกราม

การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด-เยอรมัน-คางทูม  เพื่อป้องกันโรค โดยจะเริ่มฉีดตอนอายุ 9 – 12 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ

  1. โรคอีสุกอีใส :  เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ติดต่อผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำใสจากผู้ป่วย หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนกับสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส และทางการหายใจ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานไปตลอด จึงมักไม่เป็นซ้ำ

อาการ :  มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมาตุ่มนูนขึ้น กลายเป็นตุ่มน้ำใส และตกสะเก็ด

การป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

          ฤดูหนาวนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังลูกน้อยให้ดี การป้องกันลูกรักไม่ให้ป่วยที่ดีที่สุด คือ การรับวัคซีนที่เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแข็งแรง และลดความรุนแรงของโรคได้  และถ้าหากมีอาการผิดปกติหรืออาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแนวทางการรักษา

 

ด้วยความห่วงใย จาก…โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวชกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ