เฮอร์แปงไจน่า VS มือ เท้า ปาก ต่างกันอย่างไร?

29 ส.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็กอายุ 2 ถึง 10 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนโรคเฮอร์แปงไจน่า สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับโรคมือ เท้า ปาก แล้วโรคเฮอร์แปงไจน่าแตกต่างกับโรค มือ เท้า ปาก อย่างไร?
• โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองฝอยจากการไอหรือจาม นอกจากนี้ยังติดต่อทางอ้อมผ่านของเล่น น้ำและอาหาร ที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีผื่น มีตุ่มน้ำใส บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือผื่นบริเวณก้น บางรายอาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว ร่างกายขาดน้ำ หอบเหนื่อย ซึม ชัก เกร็ง
• โรคเฮอร์แปงไจน่า
โรคเฮอร์แปงไจน่า มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสเช่นเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก ถึงแม้ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่อาการที่แสดงแตกต่างกัน คือ โรคเฮอร์แปงไจน่า จะไม่พบผื่นหรือตุ่มน้ำที่บริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า มีแค่ตุ่มในปาก เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม ในช่วงแรกจะสังเกตอาการของโรคนี้ค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อเริ่มมีผื่นขึ้น จึงจะสามารถสังเกตอาการได้

 การรักษา
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาเฉพาะในการรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการ ดังนี้
– เมื่อมีไข้ ต้องเช็ดตัวลดไข้ จนกว่าไข้จะลดลง
– รับประทานยาลดไข้ ร่วมกับให้ยาบรรเทาอาการอื่น ๆ เพื่อลดความเจ็บปวดจากผื่นแผลในปาก
– กระตุ้นให้ดื่มน้ำในปริมาณเยอะ ๆ
– รับประทานอาหารจืด ย่อยง่ายทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง

หากรับประทานอาหารได้น้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเหลืองเข้ม ควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้การป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้สัมผัสกับเด็กคนอื่น ๆ และผู้ดูแลควรหมั่นล้างมือ หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น

ด้วยความห่วงใย จาก…โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวชกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ