อาการปวดท้องน้อย คืออาการปวดตั้งแต่บริเวณใต้สะดือ ลงไปจนถึงบริเวณหัวหน่าว ซึ่งเป็นอาการที่สุภาพสตรีหลายท่านมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นอาการปวดท้องทั่วไป เหมือนกับการปวดท้องประจำเดือน แต่ถ้าหากปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือปวดแบบเฉียบพลันอย่างไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุจากโรคอื่นได้เช่นกัน
อาการปวดท้องน้อย เป็นสัญญาณเตือนจากโรคอะไรบ้าง ..
- โรคในระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก พังผืดในอุ้งเชิงกราน อาการปวดในกลุ่มนี้ มักมีอาการปวดประจำเดือนมาก และประจำเดือนมีลักษณะเป็นลิ่มหรือเป็นก้อนเลือด ซึ่งเวลาปวดจะปวดร้าวไปทั้งหลัง ก้น รามไปจนถึงขา โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการสัมพันธ์กับรอบเดือน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องน้อย เลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ นิ่วในไต ความผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ เช่น แสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะปนเลือด มีฟอง สีขุ่น และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาหารเป็นพิษ โรคลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีมูกปนเลือด และมีอาการปวดท้องบริเวณตรงกลางหรือบริเวณท้องน้อย
- โรคในระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบ อาการสำหรับกลุ่มนี้จะปวดบริเวณหน้าท้อง ท้องน้อย ไปจนถึงหัวหน่าว ซึ่งคนไข้ที่มักปวดบริเวณนี้ มักเกิดจากการยกของหนัก หรือเกร็งกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายอย่างหนัก
เราสามารถป้องกันอาการปวดไม่ให้รุนแรงได้ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมอาหาร และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสาเหตุของอาการปวดท้องน้อย และควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี และถ้าหามีอาการปวดท้องน้อย อย่าชะล่าใจ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษา เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าระบบอวัยวะที่อยู่ใกล้กับท้องน้อยกำลังมีปัญหา