โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) คือ ภาวะที่เกิดกรดหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีความเข้มข้นสูงไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร และทำให้เกิดอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนรบกวนผู้ป่วย มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานมากกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ทำให้หลาย ๆ คนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
สังเกตอาการกรดไหลย้อน
- รู้สึกแสบร้อน บริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดอาการหลังรับประทานอาหาร
- เรอบ่อย รู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยว หรือขมย้อนขึ้นมาในลำคอ ปาก
- มีอาการท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ กลืนลำบาก
- มีอาการไอเรื้อรัง ไอแห้ง โดยเฉพาะหลังการรับประทานอาหาร
โรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาได้ โดยการรับประทานยากลุ่มลดกรด ขณะเดียวกันควรควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน
มาลองปรับพฤติกรรม เพื่อรักษา ‘กรดไหลย้อน’ …
พฤติกรรมส่วนตัว
- ผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากความเครียดที่มากเกินไปจะทำให้อาการแย่ลง
- งดการสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ จะเป็นตัวเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
- ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือก้มตัวในทันที หลังรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะอย่าง 3 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกลุ่ม ‘เปรี้ยว เผ็ด เค็ม มัน’
- หลีกเลี่ยงพืชผักบางชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม หอมแดง เปปเปอร์มินต์ หรือ สะระแหน่ รวมถึงผักดิบทุกชนิด เพราะจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้แสบร้อนกลางอก
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรอิ่มจนแน่นท้อง
พฤติกรรมการนอน
- หลังรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะห่าง 3 ชั่วโมง ไม่ควรนอนทันที
- เวลานอน ควรเสริมด้านหัวเตียงให้ยกสูงประมาณ 6-10 นิ้ว จากพื้นราบ จะช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารได้
หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เพียงแต่ป้องกันโรคกรดไหลย้อน แต่ยังสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ด้วย และควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง