ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อย มาดูกันว่ามีอาการใดบ้างที่ต้องระวัง เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ในช่วงเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องใส่ใจกับสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ มีโอกาสที่จะส่งถึงลูกน้อยด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์” ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย และยังเป็น 1 ในสาเหตุการเสียชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย มาดูกันว่า โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร และสามารถรับมือได้ด้วยวิธีใดบ้าง
โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ?
ตับ ไต สมอง และยังส่งผลให้เลือดส่งผ่านไปยังทารกลดลง จนทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในครรภ์ได้ในที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ?
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือ เป็นโรคอ้วน
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบอย่างไร ?
- คุณแม่อาจเกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมอง และรกลอกตัวก่อนกำหนด หากรักษาไม่ทันเวลา อาจถึงขั้นเสียชีวิต
- ทารกในครรภ์อาจเจริญเติบโตช้า หรือถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อาการเป็นอย่างไร ?
- ความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- มีอาการบวมตามมือและใบหน้า
- มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปวดศีรษะอย่างหนัก
- การมองเห็นผิดปกติ ตาพร่ามัว
- จุกแน่นลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดเกร็งท้อง มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- ลูกดิ้นน้อยลง
- ปัสสาวะน้อยลง
ซึ่งนอกจากอาการเหล่านี้ที่สามารถสังเกตได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่แน่ชัด หรือแทบไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ดังนั้น วิธีที่จะช่วยป้องกันอันตรายจากภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ ก็คือการเข้าพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายและทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
แนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการและอายุครรภ์ โดยเบื้องต้น แพทย์จะให้คุณแม่เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งการรักษามีอยู่ด้วยกัน 2 ทางหลัก ๆ คือ หากอาการอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และยังไม่ครบกำหนดคลอด แพทย์จะรักษาตามอาการ และพิจารณาให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป ภายใต้ความดูแลของแพทย์
แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดคลอด หรือ ยุติการตั้งครรภ์
การป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คือ การเข้าฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่แพทย์จะสามารถประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และแนะนำการรักษาที่เหมาะสม พร้อมติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย และเพิ่มโอกาสที่ลูกน้อยจะเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมบูรณ์
ปรึกษาเรื่องอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์กับหมอสูตินรีกาญจนบุรี ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาได้ที่ 034-912-888