มารู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ให้มากขึ้น ว่ามีอาการอย่างไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร และสามารถรักษาหรือชะลออาการด้วยวิธีใดได้บ้าง ?
รู้หรือไม่ ? โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS) ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากระบบประสาท ในบทความนี้เราจะพาคุณมารู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงกันให้มากขึ้น ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงอาการของโรค การวินิจฉัย และแนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ย่อมาจาก Amyotrophic Lateral Sclerosis ซึ่งแม้ชื่อของโรคจะบ่งบอกถึงอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่โรคทางกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาท
โดยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เซลล์ประสาทบริเวณไขสันหลัง และสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อถูกทำลายลง และส่งผลให้กล้ามเนื้อค่อย ๆ อ่อนแรง โดยโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่อาจรู้ตัวได้ว่ากำลังเผชิญกับโรคนี้ และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น
- พันธุกรรม : มีการสันนิษฐานว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมเนื่องจากพบว่าประมาณ 10% ของผู้ป่วย ALS มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรค ALS เช่นกัน
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน : การที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายโจมตีเซลล์ประสาทของตัวเอง จนทำให้เซลล์ประสาทในส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อถูกทำลายได้
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม : ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมก็อาจมีผลทำให้เกิดโรคนี้ด้วยเช่นกัน เช่น การสัมผัสกับโลหะหนัก สารเคมี หรือสารอันตรายบางอย่าง ทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติได้
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS จะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค เช่น อาการชาตามแขน และขา กล้ามเนื้อกระตุก อาการสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบ ปวดตามกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจและกลืนได้ยากลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นตามลำดับ ทำให้ในระยะท้าย ๆ ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอาจไม่สามารถขยับร่างกายได้
การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยโดยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายโรค ALS ด้วยเช่นกัน
โดยแพทย์อาจใช้เครื่องมือและวิธีเหล่านี้ในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS
- การตรวจ MRI SCAN : เพื่อตรวจดูโครงสร้างของสมองและไขสันหลังว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด : เพื่อตรวจหาค่า Creatine, ค่า Kinase, ค่า Antibody และระดับฮอร์โมน อีกทั้งยังช่วยให้ตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรค ALS ได้อีกด้วย
การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ให้หายขาด แต่สามารถรักษาเพื่อชะลออาการ และรักษาตามอาการของผู้ป่วยได้
ซึ่งโดยทั่วไป การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะใช้วิธีรักษาด้วยการให้ยาตามอาการ โดยจะเป็นยาที่ช่วยชะลอการตายของเซลล์ประสาท ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัดอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อบางส่วนให้มีความแข็งแรง ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ สื่อสารได้ ทั้งยังจะเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้มีความหวังและเข้มแข็งขึ้น
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนมากจะเสียชีวิตหลังถูกวินิจฉัยประมาณ 2-3 ปี แต่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 10 ปี เพราะมีแรงใจที่ดี ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าคนใกล้ตัว หรือตัวเองมีอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที ก่อนที่อาการจะรุนแรงและส่งผลต่อชีวิต สามารถมาปรึกษากับคลินิกโรคระบบประสาท โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
สอบถามเพิ่มเติม หรือนัดหมายได้ที่ Call Center 034-912-888