ทำความรู้จักกับความชรา สาเหตุของการเจ็บป่วย

12 ม.ค. 2565 | เขียนโดย ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ความชรา (Aging) โดยหลักของเวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วย และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยสาเหตุหลักของความชราเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้



เรามักมีความเชื่อที่ว่า อายุที่มากขึ้น ร่างกายจะมีความเสื่อม และสึกหรอไปตามวัย จึงทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่เรามักเรียกรวม ๆ ว่าโรคชรา แต่สำหรับเวชศาสตร์ชะลอวัยเชื่อว่า ความชรานั้นไม่ได้เกิดจากตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย ที่ทำให้คนแต่ละคนนั้นมีสภาพร่างกาย สุขภาพ และความชราต่างกัน แม้จะอายุเท่ากันก็ตาม หากเรารู้ถึงสาเหตุของความเสื่อมถอยของร่างกาย ก็สามารถหาแนวทางป้องกัน เพื่อชะลอความเสื่อม และความชราของร่างกายลงได้ นอกจากนี้ยังป้องกันโรค หรือ การเจ็บป่วยบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ถึงแม้ตัวเลขอายุจะเพิ่มขึ้น ร่างกายเราก็จะไม่ชราไปตามเวลา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้

 

ความชรา (Aging)

โดยหลักของเวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วย และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยสาเหตุหลักของความชราเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. อนุมูลอิสระ (Free Radical) ในกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร ร่างกายจำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนช่วย ในกระบวนการนี้ทำให้ได้ออกซิเจนที่มีประจุลบ ซึ่งก็คือ อนุมูลอิสระ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารที่ผ่านการทอดด้วยอุณหภูมิสูง อาหารปิ้ง ย่าง สารปรุงแต่งอาหาร มลพิษต่าง ๆ PM 5 ควันรถ ควันบุหรี่ สารเคมีปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง ความเครียด นอนน้อย ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

 

อนุมูลอิสระ เป็นตัวทำลายภูมิคุ้มกัน และสร้างความเสื่อมให้กับเซลล์ต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่น โรคความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงโรคมะเร็ง เราไม่สามารถหยุดกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้ แต่เราสามารถชะลอได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ เเละมีสารพฤกษเคมีสูง (Phytonutrients) สารพฤกษเคมีเหล่านี้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เช่น ผักหลากหลายสี หลากหลายชนิด ถั่ว ธัญพืชทั้งเมล็ด ลดการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงอย่างแป้งขาว น้ำตาล ไขมัน และ การควบคุมแคลอรี เพิ่มช่วงเวลาในการจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร (Intermittent Fasting, IF) เป็นต้น

 

  1. ภาวะน้ำตาลสะสม (Advanced Glycosylation End Product) วิถีชีวิตปัจจุบัน เน้นการรับประทานอาหารจำพวกแป้งขาว เเละน้ำตาลมากขึ้น แต่ขาดการออกกำลังกาย คาร์โบไฮเดรตเหล่านั้นจะผ่านกระบวนการย่อยเป็นน้ำตาล เเละน้ำตาลจะทำปฏิกิริยาอย่างช้า ๆ กับโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะภายในร่างกาย เกิดเป็นสารที่เรียกว่า AGEs ยิ่งน้ำตาลสูงมากเป็นเวลานาน ปริมาณ AGEs ยิ่งสูง เเละทำปฏิกิริยากับโครงสร้างหรือโมเลกุลของร่างกายที่เป็นโปรตีน ทำให้เสื่อมสภาพลง ไม่สามารถทำงานตามได้ตามปกติ เช่น ทำปฏิกิริยากับคอลลาเจนที่ผิว เกิดผิวหนังเหี่ยวย่น เเก่ชราก่อนวัย เกิดจุดด่างดำ ทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นไม่ดี เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา หรือ ทำปฏิกิริยาที่เลนส์ตา เกิดต้อกระจกตามมา เป็นต้น การป้องกันความชราจากสาเหตุของน้ำตาลสะสม ก็คือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงอาหารพวกแป้งขัดขาว ตัวอย่างเช่น ข้าวขัดสี ข้าวเหนียว ขนมปัง เค้ก คุกกี้ พิซซ่า ซาลาเปา ปาท่องโก๋ น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารเหล่านี้ ทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทาน ทางที่ดีควรเลือกกินแต่อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อย่าง ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืชทั้งเมล็ด มันเทศ ฟักทอง เเละแครอท เป็นต้น

 

  1. การอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) ในคนที่อ้วน อ้วนลงพุง จะมีไขมันสะสมในร่างกายปริมาณมาก โดยเฉพาะไขมันสีขาว (White adipose tissue) ซึ่งจะผลิตสารไซโตไคน์ (Pro-inflammatory cytokines) ก่อให้เกิดการอักเสบครั้งละน้อย ๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งอ้วนมาก ก็ยิ่งมีการอักเสบที่มากขึ้นจนเรื้อรังทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ ต่อมาไขมันจะไปเกาะอยู่ที่หลอดเลือด เกิดเป็นภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดตีบ ที่หัวใจ และที่สมอง นอกจากนั้น การอักเสบเรื้อรังยังทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเบาหวาน การป้องกันการอักเสบเรื้อรัง ทำได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารประเภทแป้งขาว น้ำตาล เพิ่มการออกกำลังกาย การรับประทานปลาทะเล น้ำมันปลา ซึ่งมีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน โอเมกา 3 สูง และ เปลี่ยนน้ำมันในการปรุงประกอบอาหาร เป็นชนิดที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว โอเมกา 9 สูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ซึ่งลดการอักเสบได้

 

  1. ภาวะพร่องฮอร์โมน (Hormonal Insufficiency) เมื่อเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะลดการผลิตฮอรืโมนต่าง ๆ ลง เช่น แอนโดรเจน เอสโตรเจน โกรทฮอร์โมน และเมลาโทนิน ซึ่งส่งผลให้การฟื้นฟูร่างกายลดลง และมีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น กระดูกพรุน โรคหัวใจ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย

 

หลักการรักษาของเวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การชะลอความชราที่เกิดจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ตรวจวินิจฉัยร่างกาย ร่วมกับการวิเคราะห์การดำเนินชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร การพักผ่อน ความเครียด เพื่อหาแนวทางการรักษาสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้มีสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชาศาสตร์ชะลอวัย ได้ที่ คลิก >>

ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center  โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

 

เวชศาสตร์ชะลอวัย

 

SHARE