ทำไม… ต้องพบจิตแพทย์ ?

24 ก.ค. 2563 | เขียนโดย นพ.ปริทัศน์ วาทิกทินกร จิตแพทย์ผู้ชำนาญการ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การทำจิตบำบัด โดยการเปลี่ยนความคิด หรือ Cognitive Therapy จึงถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขลักษณะที่เป็นข้อเสียโดยเฉพาะในด้านความคิด วิธีการ คือ นำเทคนิคการสังเกตคำพูดจากการสนทนาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และสะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความคิดที่ไม่เหมาะสม โดยชี้ให้เห็นว่าความคิดนั้นอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และความเป็นจริงหรือไม่ ร่วมกับการใช้เทคนิคเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากการแก้ไขความคิดหรือความเชื่อ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความเศร้า ความวิตกกังวล และความโกรธ โดยอารมณ์เหล่านี้มักถูกกระตุ้นจากการรับรู้ว่ามีการสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต, ปัจจุบัน หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ความรู้สึกผิดที่มีต่อผู้อื่น เมื่อตนเองได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม แพทย์ผู้รักษามีหน้าที่ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ตระหนักและตรวจสอบเมื่อมีความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และวิธีการที่จะจัดการกับความคิดนั้นให้หมดไป



สถานการณ์สมมติ 2 เหตุการณ์

  • เด็กหนุ่มคนหนึ่ง อายุ 20 ปี รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนไหวง่าย ขาดความมั่นใจ จิตใจไม่เป็นสุข หาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร เป็นมาตั้งแต่ย่างเข้าวัยรุ่น อาการจะดีขึ้นบ้างเมื่อมีคนเอาใจ หรือได้ไปเที่ยวพักผ่อน บางครั้งก็หาทางออกโดยการดื่มเหล้า หรือเสพยาเพื่อให้เมาและลืมไปชั่วขณะ
  • หญิงโสดคนหนึ่ง อายุ 23 ปี เธอไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน บางครั้งเธอจะอารมณ์รุนแรงมาก และถึงกับเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 3 หน แต่เวลาที่เธออารมณ์ดีเพื่อน ๆ จะบอกว่าเธอเป็นคนร่าเริง คุยเก่ง เธอเคยมีแฟนหลายคนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เธอกลับรู้สึกว่าไม่มีใครที่ถูกใจเธอเลย เธอเคยเรียนหนังสือแต่ไม่จบ จึงเปลี่ยนไปทำงานอยู่กับบ้านพักหนึ่ง แล้วเธอจึงหันมาเรียนทางด้านการแสดง เพราะคิดว่าตัวเธอเองน่าจะเป็นนักแสดงที่ดีได้

 

ทั้งสอง มาโรงพยาบาลด้วยอาการเดียวกัน คือ รู้สึกเครียดไม่สบายใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด โลกนี้ไม่น่าอยู่ ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร อยากขอคำปรึกษาเฉย ๆ แต่ไม่อยากกินยา ขณะเดียวกันก็กลัวว่าการไปพบจิตแพทย์จะถูกมองในทางไม่ดี เช่น ถูกหาว่าเป็นโรคจิต และไม่รู้ว่าการได้รับคำปรึกษาจะแตกต่างจากการพูดคุยกับคนสนิทที่รู้ใจอย่างไร

 

อาการแบบนี้ ทางการแพทย์บอกได้ว่า น่าจะมีปัญหาทางความคิด คือ คิดทางลบ และร่วมกับมีปัญหาทางอารมณ์ คือ ซึมเศร้า ไม่ถึงขนาดเป็นโรคจิต การมาพบจิตแพทย์น่าจะดีกว่าการพูดคุยกับคนสนิท เพราะหากไม่ต้องการกินยา การทำจิตบำบัดโดยการเปลี่ยนความคิด หรือ cognitive  therapy  อาจจะช่วยได้

ตามทฤษฏีของ Aron T. Beck กล่าวว่า “วิธีการมองตัวเอง หรือ มองโลกของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เป็นตัวกำหนดความคิด และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆ ที่เห็นได้”

 

การทำจิตบำบัด โดยการเปลี่ยนความคิด หรือ Cognitive Therapy

จึงถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขลักษณะที่เป็นข้อเสียโดยเฉพาะในด้านความคิด วิธีการ คือ นำเทคนิคการสังเกตคำพูดจากการสนทนาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และสะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความคิดที่ไม่เหมาะสม โดยชี้ให้เห็นว่าความคิดนั้นอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และความเป็นจริงหรือไม่ ร่วมกับการใช้เทคนิคเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากการแก้ไขความคิดหรือความเชื่อ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความเศร้า ความวิตกกังวล และความโกรธ โดยอารมณ์เหล่านี้มักถูกกระตุ้นจากการรับรู้ว่ามีการสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ปัจจุบัน หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ความรู้สึกผิดที่มีต่อผู้อื่น เมื่อตนเองได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม แพทย์ผู้รักษามีหน้าที่ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ตระหนักและตรวจสอบเมื่อมีความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และวิธีการที่จะจัดการกับความคิดนั้นให้หมดไป

 

การทำจิตบำบัดโดยการเปลี่ยนความคิด มีทั้งแบบการรักษาระยะสั้น และระยะยาว

การรักษาระยะสั้น

คือ 15-20 ครั้ง ในเวลา 12 สัปดาห์ โดยอาศัยความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ระหว่างผู้ป่วยและผู้รักษา การรักษาจะชักนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงความคิดพื้นฐานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ อาจใช้วิธีการทำเป็นกลุ่ม หรือเฉพาะบุคคล มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ในระหว่างการรักษาทั้งผู้ป่วยและผู้รักษา อาจจะเกิดความรู้สึกกดดันได้ เพราะผู้ป่วยต้องกลับไปทำการบ้านตามที่ได้รับมอบหมาย คือ การฝึกสังเกตและเปลี่ยนความคิด แต่จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

การรักษาระยะยาว

เรียก การทำจิตบำบัดต่อเนื่อง (Maintenance Therapy) สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาเป็นปี ๆ เป็นการทำจิตบำบัดเพื่อกระตุ้น 1-2 ครั้งต่อเดือน เป็นเวลา 6-12 เดือน แล้วจึงทำการประเมินซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับความร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย

 

Cognitive  therapy

ได้ถูกใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า, โรคประสาทวิตกกังวล, อาการวิตกจริต, กลัว,โรคย้ำคิดย้ำทำ,  ความผิดปกติในการกิน, โรคติดสารเสพติด, บุคลิกภาพแปรปรวน  และ  โรคประสาทที่มีอาการทางกาย ปัญหาทางจิตสังคมที่เฉพาะเจาะจง  เช่น การล้มเหลวในชีวิตสมรส การขาดความยอมรับนับถือตนเอง จากความผิดหวังในหน้าที่การงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคทางจิตอื่น ๆ ตามมา และเพื่อลดโอกาสที่จะกลับเป็นซ้ำของโรคทางจิตหลังจากหยุดการรักษาด้วยยา หรือใช้เป็นตัวเสริมการรักษาควบคู่ไปกับการรักษาโดยการใช้ยาซึ่งมีการศึกษาพบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่เกิดร่วมกับ ความเจ็บป่วยทางกาย เช่น  โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, บาดเจ็บทางร่างกายซึ่งต้องการการฟื้นฟูทางจิตใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบว่าผู้ป่วยมีประวัติของความบกพร่องทางจิตมาก่อน

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า โดยให้ท่านลองตอบคำถามว่าท่านมีความรู้สึกเหล่านี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ ได้แก่

  • รู้สึกจิตใจหม่นหมอง(เกือบตลอดทั้งวัน)
  • รู้สึกเป็นทุกข์จนอยากร้องไห้
  • รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก
  • รู้สึกผิดหวังในตนเอง
  • โทษตนเองในสิ่งที่เกิดขึ้น
  • รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง
  • รู้สึกอยากอยู่คนเดียวไม่อยากสุงสิงกับใคร รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า
  • คิดอะไรไม่ออกหลงลืมง่าย คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ
  • ทำอะไรอืดอาด เชื่องช้ากว่าปกติ
  • รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง
  • รู้สึกเบื่ออาหาร กินได้น้อยกว่าเดิม
  • นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท

ถ้ามีความรู้สึก ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป หมายถึง ท่านกำลังมีภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ท่านทำใจได้หรือไม่กับสิ่งที่ท่านประสบอยู่ ถ้าหาทางออกไม่ได้การปรึกษาจิตแพทย์ จะช่วยให้ท่านสามารถจัดการกับปัญหาที่ประสบอยู่ได้

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกจิตเวช 

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE