ต้อเนื้อคืออะไร…เมื่อไรต้องรักษา ?!??

24 ส.ค. 2565 | เขียนโดย แผนกตา ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์

ต้อเนื้อ (Pterygium) เกิดจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อบุตาขาวทำให้เกิดการหนาตัวของเยื่อบุ เห็นเป็นลักษณะเนื้อเยื่อแผ่นหนาสีขาวเหลืองมีเส้นเลือดมาเลี้ยง มักเกิดบริเวณหัวตา อาจโตลุกลามเข้าไปบนกระจกตาดำจนบดบังการมองเห็น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อเนื้อคือการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาจากการโดดแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน สารเคมี เป็นเวลานานๆ



ต้อเนื้อมีอาการอย่างไร ?

ในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ แต่หากต้อเนื้อขยายใหญ่ขึ้นอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ระคายเคืองตา ปวดตา แสบตา
  • น้ำตาไหลง่าย
  • ตาพร่ามัวจากต้อเนื้อยื่นเข้าบดบังการมองเห็น
  • อาจเกิดการดึงรั้งจนเห็นภาพซ้อน สายตาเอียง

 

ต้อเนื้อรักษาอย่างไร ?

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ต้อเนื้อยังไม่ลามเข้าไปในกระจกตาดำ สามารถให้การรักษาโดย

  • หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ เพื่อชะลอไม่ให้ต้อเนื้อขยายเร็วขึ้น
  • ใช้น้ำตาเทียม หยอดป้องกันไม่ให้ตาแห้ง
  • ใช้ยาหยอดแก้แพ้ ยาหยอดที่ช่วยให้เส้นเลือดหดตัว โดยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ยาหยอดตาเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้

ในผู้ป่วยที่ต้อเนื้อลามเข้าไปในกระจกตาดำและบดบังการมองเห็น แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก โดยการผ่าตัดใช้เพียงยาชาเฉพาะที่และใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยโอกาสการกลับเป็นซ้ำจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ลักษณะของต้อเนื้อ และการดูแลรักษาดวงตาภายหลังการผ่าตัด

ต้อเนื้อป้องกันอย่างไร ?

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้าเวลากลางวัน สวมแว่นกันแดดที่ป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต สวมหมวกหรือใช้ร่มกันแดด
  • หลีกเลี่ยงลม ฝุ่น ควัน ใช้แว่นกันลม
  • พยายามไม่ให้ตาแห้ง หยอดน้ำตาเทียม

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการแผนกตา  ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE