ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ทั้งทางร่างกาย ทางสมอง ทางอารมณ์และทางสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้การดูแล และความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุ ได้ปรับตัวได้ดี ลูกหลานหรือผู้ใกล้ชิดจึงมีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้ผู้สูงอายุในครอบครัว ใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขกายสุขใจ
วัยสูงอายุ
เมื่อเข้าสู่งวัยสูงอายุ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- ทางด้านร่างกาย ร่างกายเริ่มอ่อนแอลงและมีความเสื่อมทางด้านร่างกายทำให้เชื่องช้า ร่างกายมีเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ และจากโรคภัยที่รุมเร้า บางรายอาจมีอาการมือเท้าสั่น เสียการทรงตัวหรือการทรงตัวไม่ดี ร่างกายปรับตัวกับสภาพดินฟ้าอากาศได้ยาก ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว
- ทางด้านสมอง ระบบประสาทและสมองมีการเสื่อมตามกาลเวลาทำให้หลงลืมง่าย ความจำไม่ดี แต่เหตุผลและความสุขุมรอบคอบอาจยังปกติอยู่
- ทางด้านอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ในวัยสูงอายุอารมณ์ไม่อาจคงที่ มีความอ่อนไหวง่าย บางรายเอาแต่ใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย ชอบบ่น แต่บางรายกลับใจดีมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในครอบครัว เศรษฐกิจ รายได้ และความรักความอบอุ่น ความเอาใจใส่จากครอบครัวที่เป็นอยู่
- ทางสังคม การเปลี่ยนแปงทางด้านสังคม ส่วนมากก็มักยึดศาสนาเป็นที่พึ่ง บางรายอาจต้องหาเลี้ยงชีพอยู่หรือเลี้ยงดูลูกหลานในบ้าน จึงกลายเป็นที่พึ่งและเพื่อนเล่นของลูกๆ หลาน ซึ่งก็ช่วยให้มีความสุข ไม่เบื่อได้
ปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ
- ร่างกาย สุขภาพไม่แข็งแรง
- ด้านจิตใจ กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวไม่ได้รับการดูแลวิตกกังวล
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หมดศักดิ์ศรี เพราะเมื่อเกษียณอายุต้องออกจากหน้าที่การงาน
- พบกับการสูญเสียคู่ชีวิต ญาติ มิตรสหาย ลูกหลาน ทำให้เกิดความว้าเหว่ หดหู่ เศร้าใจ
- ได้รับการถูกทอดทิ้ง เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวมักแยกอยู่อย่างอิสระจากพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเดียวดาย จิตใจหดหู่ ไม่ได้รับการดูแล ขาดเพื่อนฝูง ขาดการพบปะสังสรรค์
- ผู้สูงอายุ มักคิดถึงแต่เรื่องในอดีตด้วยความเสียดาย และคิดถึงปัจจุบันด้วยความหวาดกลัว และมีความวิตกกังวลต่ออนาคต
ควรปรับตัวอย่างไรในวัยสูงอายุ ให้มีความสุขที่ยั่งยืน
- เตรียมใจยอมรับความรู้สึกสูญเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยนี้ เช่น สูญเสีย สมรรถภาพทางกาย ลูกหลานจากไปมีครอบครัว บางครั้งก็ต้องอยู่ตามลำพังคนเดียว
- ไม่ควรคิดถึงอายุซึ่งลวงเลยไป หรืออดีตด้วยความวิตกกังวล
- อย่าคิดว่าอายุทำให้คนอื่นเลิกเคารพตัวท่าน
- เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาขอคำแนะนำจากคนอื่นบ้าง
- ไม่ควรจริงจังกับชีวิตมากนัก ดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง
- ดูแลสุขภาพอนามัยให้ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีโปรตีนปานกลาง ไขมันน้อย วิตามินมาก ปริมาณต้องจำกัด
- ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ และ พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
- พักผ่อนหย่อนใจและทำงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความเพลิดเพลินใจ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปวัดทำบุญศึกษาและปฏิบัติธรรม
- เก็บออมทรัพย์ไว้ เพื่อจุนเจือใช้จ่ายในวัยสูงอายุจะได้พึ่งตนเองได้
- ไม่เก็บตัว แยกตัวอยู่ตามลำพังคนเดียว
- ควรร่วมวงสนทนากับเพื่อนๆ และผู้อื่นที่มีอายุอ่อนกว่าจะช่วยทำให้สังคมของผู้สูงอายุกว้างมากขึ้น และยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคม ช่วยให้ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ไม่คับข้องใจมากนัก
- การยอมรับว่าตนเองเป็นผู้สูงอายุ ประพฤติปฏิบัติตัวให้ถูกกาลละเทศะและเหมาะสม กับอายุ
- ไม่ทำตนให้เป็นที่รำคาญแก่ลูกหลานหรือผู้อื่น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้อื่นและ ลูกหลานรู้สึกอบอุ่นและอยากเข้ามาใกล้ชิด
- ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ รู้จักสร้างอารมณ์ขัน ไม่เครียดจนเกินไป
- บริหารอารมณ์ ให้เป็นผู้มีมีจิตใจดี อารมณ์ดี
ลูกหลานญาติพี่น้อง มีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้ผู้สูงอายุ หรือ ผู้สูงอายุ ปรับตัวได้อย่างมีความสุข โดยให้เกียรติให้ความเคารพมีสัมาคารวะกับผู้สูงอายุ และช่วยให้ท่านมีความภาคภูมิใจ ไม่ดูถูกเหยียดหยามท่าน ให้การเลี้ยงดูและดูแลท่าน คอยถามไถ่เวลาท่านไม่สบายพาไปหาหมอ ดูแลเอาใจใส่ท่านจนหายจากเจ็บไข้ ท่านจะได้รู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัวยังมีคนห่วงใยคอยดูแลอยู่ทำให้ท่านรู้สึกอบอุ่นใจ และสามารถที่จะต่อสู้กับชีวิตในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ ได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ แผนกอายุรกรรม
Synphaet Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
ดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง ใช้ศาสตร์สร้างสุขภาพให้ดีจากภายในสู่… ภายนอก
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชาศาสตร์ชะลอวัย ได้ที่ คลิก >>
ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา