“เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด” เป็นอาการที่มักพบบ่อยในหมู่นักกีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว มีการบิด หมุน กระโดด กระแทก จนทำให้เกิดการบิดของเข่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล หากเส้นเอ็นนี้บาดเจ็บหรือฉีกขาด จะทำให้มีอาการปวด บวม เดินไม่ไหว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากเป็นรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้กลับมามีอาการปวดเหมือนเดิม รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาดเสียที หรืออาจถึงขั้นทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้
ดังนั้นควรพบแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาถูกวิธี ซึ่งการรักษาอาการเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากแผลจะมีขนาดเล็ก บาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
หน้าที่ของ “เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า”
เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า (Anterior cruciate ligament) หรือ ACL เป็นหนึ่งในเส้นเอ็นหัวเข่า ยึดระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกหน้าแข้งให้สามารถเคลื่อนไหวได้มุมต่างๆ โดยหน้าที่หลักๆ ของเอ็นเส้นนี้คือ เสริมความมั่นคงให้แก่ข้อเข่า ป้องกันไม่ให้เหยียดเข่าเกินองศา (hyperextension) จนทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและผิวข้อเข่า โดยเฉพาะในท่าเหยียดเข่าจนสุดนั้น จะทำให้เอ็นเส้นนี้ตึงมาก ดังนั้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า จึงเป็นเส้นเอ็นที่มีความสำคัญต่อข้อเข่ามากเส้นหนึ่งหากเส้นเอ็นนี้บาดเจ็บหรือฉีกขาดอย่างถาวร จะทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา เช่น เข่าหลวม เข่าบวม ปวดเข่า เดินไม่ไหว หรือ เล่นกีฬาไม่ได้อีกต่อไป
สาเหตุที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิด หมุน กระโดด กระแทก และเกิดการเสียหลัก ผิดท่า ล้ม
- เกิดการปะทะระหว่างการแข่งขันกีฬา
- เกิดการบิดของเข่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าถูกกระชากและฉีกขาด
อาการเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดเป็นอย่างไร
- รู้สึกและได้ยินเสียงดังบริเวณหัวเข่า เหมือนมีบางอย่างขาด หรือมีอะไรดีดอยู่ในขา
- ข้อเข่ามีอาการบวม ปูด ภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะมีเลือดออกภายในข้อ
- รู้สึกเจ็บที่ข้อเข่าเป็นอย่างมาก
- หัวเข่าจะมีอาการปวดบวมจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
- หากเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเป็นเวลานาน จะมีอาการเข่าไม่มั่คง (giving way) รู้สึกเหมือนเข่าจะหลุด เวลาบิดหมุน หรือวิ่ง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้หน้าเข่า
- นอนนิ่งๆ อย่าพยายามขยับ รอคนมาช่วย
- ประคบเย็นให้เร็วที่สุด
- ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า โดยค่อยๆ ลงน้ำหนัก
- สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็นดังขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
- ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายึดให้แข็งแรง
- หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือแพทย์
การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
- รักษาโดยไม่ผ่าตัด
เบื้องต้นหากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บทันที บ่งบอกว่ามีการฉีกขาดและมีเลือดออกบริเวณเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า ซึ่งอาจจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย แพทย์จะทำการใส่เฝือกอ่อนและให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่ออาการบวมและอักเสบเฉียบพลันลดลง จะเน้นในการสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้มีความแข็งแรง เพื่อมาทดแทนเอ็นไขว้หน้าเข่าที่มีการบาดเจ็บ ซึ่งวิธีที่ใช้ร่วมกันคือการออกกำลังกายโดยนักกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด วิธีการรักษาแบบนี้เหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่ใช้หัวเข่ามากนัก และสามารถปรับพฤติกรรมตนเองให้เหมาะกับเข่าที่ไม่สามารถบิดหมุนรุนแรง
ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายหลังจากเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด อาการปวด บวม ค่อยๆ ลดลง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะเดินได้เองโดยไม่รู้สึกผิดปกติ แต่จะมีอาการเข่าหลวม เข่าไม่มั่นคง ปวดเวลาหัวเข่าบิดหมุน เวลาเล่นกีฬาหรือใช้งาน
- รักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่ใช้กล้องขนาดเล็ก 4 มิลลิเมตรและเครื่องมือพิเศษขนาดเล็กผ่านทางแผลเจาะรูที่เข่า 2 รู ย้ายเส้นเอ็นหลังต้นขา (Hamstring) มาทำเป็นเส้นเอ็นไขว้หน้าอันใหม่โดยใช้สกรูชนิดพิเศษยึดเอ็นเข้ากับกระดูก มีแผลใต้หัวเข่ายาวประมาณ 3 ซม.
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง คือ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก นอนโรงพยาบาลไม่นาน มีผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็ว และหากได้รับการกายภาพบำบัด เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า ฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยจะสามารถกลับมามีสมรรถภาพทางร่างกายและคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดิม วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยหรืออยู่ในวัยทำงาน และต้องการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และเล่นกีฬาในระดับใกล้เคียงกับก่อนการบาดเจ็บ
ก่อนและหลังการผ่าตัดต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ก่อนการผ่าตัดควรเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากทำให้เส้นเอ็นหลวม ติดช้า หรือไม่ติด ภายหลังการผ่าตัด ต้องมีการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนหัวเข่ารุนแรง
ระยะเวลาการฟื้นฟูร่างกาย
- 1 วันหลังผ่าตัด ใช้ไม้เท้า + สนับเข่า
- 2 อาทิตย์ หลังผ่าตัด หยุดใช้ไม้เท้า
- 3 เดือน หลังผ่าตัด หยุดใช้สนับเข่า
- 3 เดือนหลังการผ่าตัด กายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับกิจกรรมและกีฬาแต่ละแบบ
- 9 เดือน สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้
แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/2Y55sqE
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/3e45kxi
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/31h3Ege
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/2AEj0k1
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ https://bit.ly/3hXuTT2
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/39nE7o7
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3i1nWAM