วัณโรค โรคติดต่อที่ต้องทำความเข้าใจ

3 เม.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

วัณโรค โรคติดต่อที่ต้องทำความเข้าใจ



รู้จักวัณโรคปอด

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex วัณโรคเกิดได้ทุกอวัยวะของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ 80% พบบ่อยที่ปอด เนื่องจากเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย วัณโรคปอดจะแพร่เชื้อได้ และติดต่อได้ง่ายผ่านทางอากาศด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ และเชื้อนี้ยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย

 

วัณโรคปอดติดต่อได้อย่างไร

วัณโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ (airborne transmission) เมื่อผู้ป่วยวัณโรค ไอ จาม พูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะ ร้องเพลง ทำให้เกิดละอองฝอย (droplet nuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่มากจะตกสงสู่พื้นดินและแห้งไป ละอองฝอยที่มีขนาดเล็ก 1-5 ไมโครเมตร จะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ แพร่เชื้อให้ผู้ที่สูดเข้าไป

 

การแพร่กระจายเชื้อวัณโรคจะมากหรือน้อย พิจารณาปัจจัย 3 ด้านเพิ่มเติม คือ

  1. ความสามารถในการแพร่เชื้อวัณโรคของผู้ป่วย จะแพร่เชื้อทางอากาศได้มาก ผลเสมหะพบเชื้อจะมีโอกาสแพร่ได้มากกว่าเสมหะไม่พบเชื้อ
  2. ระยะเวลาการที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วย ทำงานในห้องเดียวกัน มีโอกาสรับเชื้อมาก
  3. ปัจจัยของสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม สถานที่แออัด แดดส่องไม่ถึง เชื้อสามารถอยู่ในที่ชื้นและมืดได้นานถึง 6 เดือน

 

วัณโรคมีอาการอย่างไร

  • ไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
  • ไอแห้ง หรือมีเสมหะ ไอมีเสมหะปนเลือด
  • มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เหงื่อออกกลางคืน
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

ไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวทุกข้อ บางรายไม่มีอาการเลย แต่ภาพรังสีทรวงอกเข้าได้กับวัณโรค

 

การรักษาวัณโรค

วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาการรักษาประมาณ 6-9 เดือน ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแล และกำกับการรับประทานยาของผู้ป่วย พร้อมทั้งคอยแนะนำหากมีอาการแพ้ยาและพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบการรักษา โดยแพทย์อาจเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค เช่น ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ริฟามพิน (Rifampin) เอทแทมบูท (Ethambutol) และไพราซีนาไมด์ (Pyrazinamide)

 

ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเป็นวัณโรค

  • ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันไม่ให้ เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น จนกว่ารับประทานยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ไอจามใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูก ทิ้งในถังขยะที่มีถุงรองรับและมีฝาปิด ล้างมือบ่อยๆ บ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดทำลายโดยการเผาทุกวัน หรือบ้วนเสมหะในโถส้วม
  • รับประทานยาตามขนาดและชนิดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา
  • หลังรับประทานยาอาการจะดีขึ้น แต่ห้ามหยุดยาเป็น อันขาด เพราะจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาและยากต่อการรักษา
  • รับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • จัดสถานที่พักอาศัยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่อง
  • ควรงดเหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด เพราะมีผลต่อการรับประทานยา
  • ควรนำคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กไปตรวจภาพรังสีทรวงอก สำหรับในเด็กจำเป็นต้องประเมินการติดเชื้อวัณโรคเพราะต้องให้ยาป้องกัน
SHARE