ฝีดาษลิงน่ากลัวแค่ไหน…ดูแลตนเองอย่างไรจากไวรัสนี้ ?

23 พ.ค. 2565 | เขียนโดย ศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์

โรคฝีดาษลิง การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเกิดจากติดเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) แต่มีความรุนแรงของโรค การแพร่กระจายเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ แต่ควรเฝ้าระวัง ! มีการรายงานโรคในประเทศแถบทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือและยุโรปแล้ว



โรคฝีดาษลิงเกิดจากอะไร ?

โรคฝีดาษลิงเกิดจากติดเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) แต่มีความรุนแรงของโรค การแพร่กระจายเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ โดยเชื่อว่าสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระรอก หนู ลิง เป็นพาหะของโรค ส่วนใหญ่มีการรายงานโรคในประเทศแถบทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือและยุโรป

 

โรคฝีดาษลิงติดต่ออย่างไร ?

การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้อนี้อยู่ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วย หรือการหายใจเอาละอองฝอยขนาดใหญ่จากสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าไป สำหรับการติดต่อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรือผ่านทางเดินหายใจ

 

อาการของโรคฝีดาษลิงเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน ?

หลังสัมผัสโรค เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5 – 21 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่างๆ ดังนี้

  • ไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย
  • ต่อมน้ำเหลืองโตอักเสบ
  • ผื่น จะเกิดหลังเริ่มมีไข้ประมาณ 1 – 3 วัน ลักษณะผื่นเป็นจุดแดง จากนั้นจะขยายขึ้นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และแตกแห้งหลุดไปในที่สุด โดยมักจะเริ่มบริเวณใบหน้า กระจายไปตามแขนขา ลำตัว และใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์กว่าผื่นจะหายเป็นปกติ
  • อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ
  • อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว อาเจียน
  • ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ตาบอด ติดเชื้อแทรกซ้อน จนถึงเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1 – 10%

 

โรคฝีดาษลิงรักษาได้หรือไม่ ?

การรักษาฝีดาษลิงในขณะนี้ใช้การรักษาประคับประคองตามอาการ ยังไม่มียามาตรฐานที่ใช้รักษาอย่างจำเพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามมีการพิจารณานำยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคฝีดาษมาใช้รักษาโรคฝีดาษลิงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีอาการหนัก ซึ่งอาจต้องรอการศึกษาและพัฒนาการรักษาที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

 

โรคฝีดาษลิงป้องกันได้อย่างไร ?

 

  • ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ เช่น สัตว์ฟันแทะ ลิง หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
  • ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อ โดยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุก
  • ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ แม้มีการพิจารณานำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมาใช้ในผู้ป่วยหลังสัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิงสำหรับบุคคลทั่วไป

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

เขียนโดย : ศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์

 

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา

SHARE