การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการในเด็ก

13 ก.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.สุธีรา คุปวานิชพงษ์ (กุมารแพทย์ ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก : โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์)

พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นการเจริญก้าวหน้าอย่างมีลำดับขั้นตอน  ตั้งแต่แรกเกิดจากครรภ์มารดา เป็นทารก จนโตขึ้น  พัฒนาการในเด็กแบ่งเป็น 4 ด้านหลักๆ ดังนี้ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเอง
.

  1. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ แบ่งเป็น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross motor development) เป็นตามลำดับ ชันคอ คว่ำ นั่ง เกาะยืน ตั้งไข่ เดิน วิ่ง กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine motor development) ใช้มือคว้าของ หยิบขนมเข้าปาก ใช้ช้อนตักอาหาร จับดินสอขีดเขียน ต่อบล็อก เล็งกะระยะตำแหน่งโดยใช้สายตาประสานมือ (Eye-hand coordination)
  2. พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร (Language development) การเข้าใจภาษา – ทักษะการฟัง การการเข้าใจ ทำตามคำสั่งได้ ชี้อวัยวะ ชี้ภาพ ส่วนการใช้ภาษา ก็คือ ใช้คำพูด ภาษาท่าทางเพื่อบอกความต้องการ
  3. พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม (Social emotional development) ตั้งแต่ทารกมองหน้า จดจำใบหน้าพ่อแม่ ยิ้มตอบ แสดงสีหน้าบอกอารมณ์ สามารถสื่อสารความคิดความต้องการกับคนอื่น ไปจนถึงสามารถเล่นกับเพื่อนได้
  4. พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและการปรับตัว (Personal and adaptive skill) เช่น การกินอาหารด้วยตัวอง ถอดและใส่เสื้อผ้าแต่งตัว บอกเข้าห้องน้ำ ฝึกขับถ่าย อาบน้ำ แปรงฟัน
    .

การที่เด็กได้รับการส่งเสริม กิจกรรม การเรียนรู้ การเล่น ที่สอดคล้องกับวุฒิภาวะ และระดับพัฒนาการ ส่งผลให้เด็กสามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่เค้ามี

มีคำพูดหนึ่งที่กล่าวว่า “การเล่นคืองานของเด็กๆ” ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการดูแลลูกของคุณพ่อคุณแม่ ที่มีส่วนช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีเต็มศักยภาพก็คือ การใช้เวลาเล่นกับลูกนั่นเอง
.

ประโยชน์ของการเล่นในเด็ก

  1. ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน
  2. ส่งเสริมความรักความผูกผัน ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
  3. การเล่นเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน มีความสุข สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้มองเห็นและชื่นชมสิ่งดีดีในตัวลูก
  4. การเล่นกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปีนป่าย ปั่นจักรยาน ในสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและพัฒนาทักษะด้านกล้ามเนื้อ
  5. การเล่นกิจกรรมที่สงบ เช่น ต่อจิ๊กซอว์ วาดรูป ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่สนใจลูกอยู่ จะเป็นการช่วยฝึกสมาธิและการกำกับตัวเองของเด็กได้ดี
  6. ลดการเกิดปัญหาพฤติกรรม เช่น ดื้อต่อต้าน ติดจอ ติดโทรศัพท์ ไม่ยอมเข้านอน
  7. ลดเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอที่ไม่มีคุณภาพ เช่น การดูทีวี เล่นโทรศัพท์ เล่นเกม
  8. การเล่นกับเพื่อน การเล่นเป็นกลุ่ม ยังช่วยฝึกให้เด็กพัฒนาในเรื่อง การกำกับตนเอง รู้จักการรอคอย การทำตามกฎกติกา การเจรจาต่อรอง นำไปสู่การพัฒนาของทักษะสมองขั้นสูง EF (executive function) ที่มีความจำเป็นอย่างมากในเด็กศตวรรษที่ 21

.

การเล่นในแต่ละวัย การเล่นของเด็กในแต่ละวัยจะเป็นไปตามช่วงของพัฒนาการที่พัฒนาขึ้นไปตามลำดับ

ช่วงวัยทารก (0-1 ปี)

เป็นวัยที่สร้างความผูกพันไว้เนื้อเชื่อใจต่อโลกและผู้เลี้ยงดู ของเล่นชิ้นแรกของลูกวัยนี้ ก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น การยิ้ม หัวเราะให้ลูก ตบมือ เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นจักจี้ เล่นปูไต่ ง่ายๆเพียงเท่านี้ ลูกวัยนี้ก็สามารถยิ้ม หัวเราะได้อย่างสนุกสนาน และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์สังคม การสื่อสารได้ดี อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การอ่านเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วง 4-6 เดือน เด็กเริ่มสนใจได้แล้ว ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการในหลายๆด้าน ตั้งแต่ด้านอารมณ์สังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบ เปิดหนังสือ ไปจนถึงด้านภาษาที่จะพัฒนามากในช่วงวัย 1-2 ปี เป็นต้นไป เริ่มจากหนังสือภาพ รูปเยอะๆ ใช้เวลาสั้นๆ เช่น ก่อนเข้านอนเป็นกิจวัตรทุกวัน
.

วัยเตาะแตะ (2-3 ปี)

ในวัยนี้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็กพัฒนามากขึ้น และเด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มอยากทดลอง อยากเรียนรู้อยากทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง หรือ วัยAutonomy ค่อยๆฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่น กินข้าว แต่งตัว แปรงฟัน เล่นทำงานบ้าน จะทำให้เค้ามีความภาคภูมิใจในตัวเอง เด็กๆจะชอบเดิน วิ่ง เริ่มปีนป่าย คุณพ่อคุณแม่อาจะต้องเริ่มออกแรงเล่นด้วยมากขึ้น มีกิจกรรมชวนลูกร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะ ส่วนของเล่นอาจจะเป็นกลุ่มที่เริ่มมีกลไกง่ายๆ เช่น กดปุ่มมีเสียง ของเล่นที่มีสีและรูปทรงต่างๆ ตุ๊กตา ชุดสัตว์ ชุดรถ บล็อกไม้ สีเทียนขีดเขียน ระบายสี มีการเล่นบทบาทสมมติง่ายๆ เช่น อาบน้ำ ป้อนข้าว ให้น้องตุ๊กตา ส่วนการเล่านิทาน ในวัยนี้จะชอบนิทานที่มีคำคล้องจอง คำกลอน
.

วัยอนุบาล (3-5 ปี)

เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการทุกด้าน การเล่นได้หลายรูปแบบ ตามที่เด็กชอบ ตามจินตนาการ เช่น ชวนลูกประดิษฐ์ของเล่นเอง เล่นกะบะทราย ขีดเขียน วาดรูป ระบายสี ปั้นแป้ง ต่อบล็อกไม้ พับกระดาษ มีการเล่นบทบาทสมมติ เช่น ตุ๊กตา ชุดสัตว์ ชุดทำอาหาร เล่นขายของ และให้มีการเล่นกลางแจ้ง ในสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย วิ่ง กระโดด ปีนป่าย ขี่จักรยาน เต้น ร้องเพลง และในวัยนี้เริ่มเล่นกับเพื่อนได้สนุกขึ้น เช่น เล่นสมมติมีธีม มีตัวละครเจ้าหญิงเจ้าชาย ครูนักเรียน สำหรับนิทานในวัยนี้ เด็กๆยังคงชอบนิทานคำกลอน นิทานที่มีเรื่องราวตัวละคร เหตุการณ์ อาจจะลองผลัดกันเป็นคนฟัง คนเล่า ตั้งคำถามชวนให้เด็กคิด คาดเดาจากนิทาน หรือในชีวิตประจำวัน ฝึกให้ลูกสังเกต จัดกลุ่มสิ่งที่เหมือนกัน รู้จักเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่าง เช่น ขนาดเล็ก-ใหญ่ สั้น-ยาว อีกส่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ฝึกให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่ายๆร่วมกัน เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ กวาดบ้าน
.

วัยประถม (6-12 ปี)

เป็นช่วงวัยที่การเรียนหนังสือมาเป็นหน้าที่หลัก แต่การเล่นก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อเด็กๆ การเล่นวัยนี้อาจจะซับซ้อนมากขึ้น มีกติกา เช่น เกมกระดาน ต่อจิ๊กซอว์ ต่อเลโก้ วาดรูป ร่วมกับการออกกำลังกาย เลือกกีฬาที่เด็กชอบ เช่น ว่ายน้ำ เทควันโด ฟุตบอล การมีกิจกรรมท่องเที่ยว ธรรมชาติ การเดินทาง ตั้งแคมป์ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการวางแผน การจัดการ แก้ไขปัญหา เป็นการพัฒนาของทักษะสมองขั้นสูง
.
พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

 

SHARE