วิธีกระตุ้นพัฒนาการ แก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก

29 เม.ย. 2565 | เขียนโดย แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

เด็กแต่ละวัยจะมีพัฒนาการและการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ และส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการนั้น ผู้ปกครองสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นลูบหน้าท้องกระตุ้นความรู้สึก พูดคุยกับลูก อ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เป็นต้น

 

สำหรับครอบครัวใดที่มีปัญหาลูกพัฒนาการล่าช้า ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้

 

ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด และเข้าปรึกษาคุณหมอถึงปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยคุณหมอจะทำการวินิจฉัยและหาวิธีแก้ไขต่อไป

 

พัฒนาการเด็กในแต่ละวัย

พัฒนาการเด็กในแต่ละวัย

พัฒนาการในวัยเด็กเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเด็ก ๆ ในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามแต่ละช่วงวัย ช่วยให้เขามีทักษะในการใช้ชีวิต และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม ตลอดจนการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งพัฒนาการของเด็กนั้นมีด้วยกัน 4 ด้าน คือ

  1. ด้านร่างกาย
  2. ด้านสติปัญญา
  3. ด้านสังคมและอารมณ์
  4. ด้านภาษา

โดยสามารถแบ่งพัฒนาการของเด็กออกได้เป็น 6 ช่วงวัยด้วยกัน ดังนี้

 

พัฒนาการของทารกแรกเกิด (New Born)

ทารกแรกเกิด คือ เด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึง 1 เดือน ถือเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ทั้งของเด็ก ๆ และของผู้ปกครอง สำหรับพฤติกรรมหลักของทารกแรกเกิดจะมีเพียงแค่ 5 อย่าง คือ

  1. การกิน
  2. นอนหลับ
  3. ร้องไห้
  4. ขับถ่าย
  5. การเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ สามารถสะท้อนผ่านปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เช่น สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียง หรือ เอียงหน้าเมื่อมีคนลูบแก้ม เป็นต้น โดยปกติแล้วทารกมักรับกลิ่นได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก ในวัยนี้เขาจึงมักจะจำกลิ่นของแม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อได้ดูดนมในอ้อมกอดคุณแม่ อีกทั้งยังส่งเสียงร้องไห้เพื่อสื่อสาร ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตเสียงร้องในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการมากขึ้น

 

พัฒนาของเด็กทารก (Infant)

เด็กทารก คือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งพัฒนาการในวัยเด็กทารก มีดังนี้

ด้านร่างกาย ในช่วงนี้เริ่มมีการมองตามสิ่งของ หันตามเสียง หยิบจับของได้ เริ่มนั่งได้เอง พลิกคว่ำหงาย จนกระทั่งการเกาะยืนและตั้งไข่ก้าวเดิน
ด้านสติปัญญา สามารถจำใบหน้าที่คุ้นเคยได้ จดจำได้เมื่อแม่หายไป
ด้านสังคมและอารมณ์ เริ่มแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านสีหน้า และตอบสนองต่อโทนเสียงที่ต่างกัน
ด้านภาษา เลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เริ่มรู้จักชื่อของตัวเอง และตอบสนองเมื่อมีคนเรียกชื่อ อีกทั้งยังสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ได้แล้ว เช่น คำว่า “จ๋าจ้า” หรือ “หม่ำ ๆ ”

 

พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะ (Toddler)

เด็กวัยเตาะแตะจะอยู่ในช่วงอายุ 1-3 ปี หรือเป็นช่วงเด็กเล็ก ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบถูกบังคับ ซึ่งพัฒนาการในวัยเด็กช่วง 1-3 ปี มีดังนี้

ด้านร่างกาย ในช่วงวัยเตาะแตะนั้นเด็กจะมีพัฒนาการด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว และเริ่มทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เช่น วิ่ง เต้น กินข้าวจากช้อน ดื่มน้ำจากแก้ว ใส่เสื้อผ้าเองได้ กระโดดขึ้นลง นั่งบนเก้าอี้ และเริ่มวาดรูปทรงง่าย ๆ ได้แล้ว
ด้านสติปัญญา เริ่มเรียนรู้การใช้งานสิ่งของต่าง ๆ และเริ่มเรียนรู้คำสั่งต่าง ๆ เช่น บอกให้นั่งหรือยืน เริ่มสังเกต เลียนแบบ การแก้ปัญหาง่าย ๆ
ด้านสังคมและอารมณ์ ในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ เริ่มสำรวจพื้นที่โดยรอบ เล่นกับเพื่อนคนอื่น ๆ และรู้สึกภูมิใจเมื่อทำอะไรสำเร็จ
ด้านภาษา พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะนั้น เริ่มเรียนรู้คำมากขึ้น สามารถถามคำถามง่าย ๆ ได้ และชอบฟังเพลงและนิทาน อีกทั้งยังเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว

 

พัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน (Preschool)

เด็กก่อนวัยเรียน คือ เด็กที่มีอายุช่วง 3-5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นเล็กน้อย มีพัฒนาการด้านร่างกายมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังนี้
ด้านร่างกาย ในวัยนี้เด็ก ๆ มีพัฒนาการด้านร่างกายหลายอย่าง เช่น กระโดด เตะบอล เดินถอยหลัง เริ่มเทน้ำได้แบบมีคนช่วย และสามารถเข้าห้องน้ำเองได้

ด้านสติปัญญา เด็ก ๆ จะเริ่มนับเลข จำชื่อคน ชื่อสี และสถานที่ได้มากขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจกระบวนการง่าย ๆ เช่น ต่อคิวเมื่อซื้อของ หรือแปรงฟันก่อนนอน เป็นต้น
ด้านสังคมและอารมณ์ เริ่มเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และเริ่มเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น อีกทั้งยังชอบเล่นกับเพื่อน ๆ
ด้านภาษา เริ่มสื่อสารด้วยประโยคที่ยาวขึ้น ใช้ประโยคต่าง ๆ ได้มากขึ้น และตอบคำถามง่าย ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ด้วย

พัฒนาการเด็กวัยเรียน (Middle Childhood)

เด็กวัยเรียนนั้นอยู่ในช่วงอายุ 5-12 ปี เป็นช่วงที่มีความสำคัญในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ดังนี้
ด้านร่างกาย เริ่มทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น แปรงฟัน หวีผม และร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ชายเริ่มมีหนวด และผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก เป็นต้น

ด้านสติปัญญา เด็กวัยเรียนสามารถบอกเวลา และสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือได้
ด้านสังคมและอารมณ์ ในวัยนี้เด็กเริ่มมีความสัมพันธ์และเล่นกับเพื่อนคนอื่น รวมถึงเพื่อนต่างเพศ และเริ่มมีความรู้สึกอิจฉา อีกทั้งยังมีความกดดันในบางครั้ง
ด้านภาษา มีสมาธิในการฟังและการอ่านหนังสือ อีกทั้งยังรู้จักเหตุผล และสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้

 

พัฒนาการเด็กวัยรุ่น (Adolescence)

เด็กวัยรุ่นจะมีอายุช่วง 12-18 ปี ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและอารมณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านร่างกาย ในช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก เช่น ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน เสียงเปลี่ยน ผู้ชายขนรักแร้เริ่มขึ้น นอกจากนี้ ทั้งน้ำหนักและส่วนสูงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้านสติปัญหา เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางครั้งอาจคิดเห็นไม่ตรงกับผู้ปกครอง และรู้ว่าความคิดเห็นของผู้ปกครองนั้นไม่ถูกเสมอไป
ด้านสังคมและอารมณ์ มีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน พร้อมทั้งต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเริ่มสนใจเรื่องความรักและเรื่องเพศ
ด้านภาษา ในช่วงวัยนี้เรียกได้ว่ามีพัฒนาการด้านภาษาที่ดี เพราะสามารถพูด อ่าน ฟัง และเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว ที่สำคัญเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้โทนเสียงที่ต่างกันไปในแต่ละโอกาสอีกด้วย

 

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็ก ๆ มีพัฒนาการล่าช้า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็ก ๆ มีพัฒนาการล่าช้า

พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ด้านนิสัยส่วนบุคคลและการเข้าสังคม, ด้านการพูดการสื่อสาร และด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และการปรับตัว ล้วนมีความเชื่อมโยงกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งหากเกิดอาการผิดปกติของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ผู้ปกครองควรใส่ใจ เพราะสัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ และควรพบคุณหมอเพื่อหาข้อวินิจฉัย

 

ความผิดปกติของศีรษะ

ขนาดของศีรษะนั้นมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของสมอง หากลูกมีขนาดของศีรษะที่เล็กหรือใหญ่เกินไปอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของสมองที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ขาดอากาศขณะคลอด หรืออาจจะเป็นโรคทางระบบประสาท ซึ่งแพทย์จะทำการหาข้อวินิจฉัยต่อไป แต่โดยปกติแล้วเส้นรอบศีรษะของเด็กจะมีค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่แพทย์ใช้สำหรับประเมินพัฒนาการ ดังนี้

เด็กแรกเกิด ความยาวรอบศีรษะ 35 เซนติเมตร
เด็ก 3-4 เดือน ความยาวรอบศีรษะ 40 เซนติเมตร
เด็ก 1 ขวบ ความยาวรอบศีรษะ 45 เซนติเมตร
เด็ก 2 ขวบ ความยาวรอบศีรษะ 47 เซนติเมตร
เด็ก 4-5 ขวบ ความยาวรอบศีรษะ 50 เซนติเมตร

 

ความผิดปกติของหู

การผิดรูปของใบหูเด็ก ทั้งตำแหน่งที่ต่ำหรือสูงเกินไป จนสังเกตได้ว่ามีติ่งหูยาวผิดปกติ รวมถึง เมื่ออายุได้ 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น ไม่หันตามทิศที่มาของเสีย หรือไม่สะดุ้งตกใจ เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าในการได้ยิน

 

ความผิดปกติของตา

สำหรับความผิดปกติของดวงตา เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าอาจจะมีลักษณะดวงตาที่ห่างกันจนผิดปกติ ตาเหล่เข้า-ออก หรือแสงสะท้อนจากรูม่านตาเป็นสีขาว แสดงให้เห็นว่าด้านหลังของรูม่านตามีความผิดปกติ ที่อาจเกิดจากการเป็นต้อ มีเนื้องอก รวมถึง ปัญหาจอประสาทตาลอก ซึ่งแพทย์จะตรวจสอบปัญหาเหล่านี้ เพื่อทำข้อวินิจฉัยว่าเด็ก ๆ มีความผิดปกติด้านการมองเห็นอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่

 

ความผิดปกติของจมูก

โดยปกติแล้วทารกจะเริ่มได้กลิ่นตั้งแต่สัปดาห์แรก โดยเฉพาะกลิ่นที่มีความคุ้นเคยอย่างกลิ่นของแม่ เมื่อได้กลิ่นก็จะโน้มตัวเข้าหา สำหรับเด็ก ๆ ที่มีพัฒนาการล่าช้า จมูกจะมีลักษณะผิดรูปจากที่ควรจะเป็น และไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับกลิ่นต่าง ๆ เช่น ไม่หน้านิ่วหรือจามเมื่อได้กลิ่นเหม็นฉุน

 

ความผิดปกติของปาก

สำหรับเด็ก ๆ ที่มีความผิดปกติของปาก ปากจะมีลักษณะบางจนบางครั้งมองไม่เห็นริมฝีปาก หรือปากแหว่งเพดานโหว่ ส่งผลให้พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง เสียงผิดปกติ และไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ในบางคนไม่ตอบโต้หรือพูดตามวัย มีพัฒนาการด้านภาษาที่ช้า

 

ความผิดปกติของลิ้น

ปัญหาความผิดปกติของลิ้น ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นมีขนาดใหญ่ ลิ้นยื่นออกมาขณะพูด รวมถึง ปัญหาการสบกันของฟัน จะทำให้เด็ก ๆ น้ำลายไหลได้ง่าย อ้าปากกว้างอยู่บ่อย ๆ ไม่กลืนอาหาร ไม่เคี้ยวข้าว บางครั้งอาจมีการเคี้ยวข้าวที่นาน ไอ และสำลักอาหารร่วมด้วย แพทย์ก็จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำข้อวินิจฉัย และหาแนวทางในการรักษาต่อไป

 

ความผิดปกติของแขนขาและลำตัว

ปัญหาความผิดปกติของแขนขาและลำตัวนั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งมากเกินไป ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก หรือกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ส่งผลให้ไม่มีแรงในการเคลื่อนไหว ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้อย่างสมดุล เช่น อายุได้ 3 เดือนแล้ว แต่คอยังไม่แข็ง อายุ 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถคว่ำได้ หรือ อายุ 9 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนั่งเองได้

 

ความผิดปกติของผิวหนัง

ปัญหาผิวหนังที่ผู้ปกครองควรสังเกต คือ ริ้วรอยหรือผื่นผิวหนังต่าง ๆ รวมถึง ลักษณะของผิวหนัง และสีผิวหนังลูก ว่า เหลืองหรือซีดผิดปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอทันที

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก

ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าเกิดจากหลาย ๆ สิ่ง ตั้งแต่ปัจจัยด้านชีวภาพ อย่างพันธุกรรมที่มาจากพ่อแม่ รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ตั้งแต่การติดเชื้อ เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอด หรือการได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยแพทย์จะนำปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มาประกอบเพื่อหาข้อวินิจฉัย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้าในเด็กมีรายละเอียด ดังนี้

โรคทางพันธุกรรม

สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าตั้งแต่เด็ก ๆ หรือหลังจากเกิดได้ไม่นาน มักจะมีลักษณะของความผิดปกติทางร่างกายตั้งแต่กำเนิดร่วมด้วย หรือมีความผิดปกติอันเนื่องมาเกิดจากพันธุกรรม เช่น

  • กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)
  • กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะบาง (Fragile X Syndrome)
  • กลุ่มอาการพราเดอร์ – วิลลี (Prader-Willi Syndrome)
  • กลุ่มอาการที่มีหัวใจผิดปกติ เพดานโหว่ และพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะทางด้านภาษา (Velocardiofacial Syndrome)

โรคเกี่ยวกับระบบประสาท

ปัญหาพัฒนาการช้าในเด็กสามารถเกิดจากปัจจัยทางด้านระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นอาการชัก หรือมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ ดังนั้น โรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น สมองพิการ ลมชักในเด็ก ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และภาวะกล้ามเนื้อกระตุก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้าได้

การติดเชื้อ

สำหรับเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้าสามารถเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็กกว่าปกติ ตับม้ามโต อีกทั้งยังสามารถมีปัญหาเรื่องต้อกระจกร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการติดเชื้อรุนแรงหลังคลอด เช่น สมองอักเสบ และเยื้อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

 

ความผิดปกติเกี่ยวกับ Metabolism

Metabolism เป็นกระบวนการทางเคมี ที่ช่วยรักษาสมดุลต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ หากร่างกายมีความผิดปกติของ Metabolism เช่น เด็กที่มีปัญหาไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดต่ำตั้งแต่กำเนิด หากไม่ได้รับการรักษาก่อนอายุ 2-3 เดือน จะส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ทำให้มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติอย่างถาวร

ภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด

ภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อในโพรงมดลูก การคลอดใช้เวลานานกว่าปกติ หรือเกิดการตกเลือดหลังจากคลอด ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กทารก ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน เด็กมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้

การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม

ครอบครัวถือเป็นพื้นฐานแรกในการใช้ชีวิต ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องส่งเสริมเด็ก ๆ ให้มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัย หากเด็ก ๆ เกิดมาในสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้าได้

 

 

แนวทางที่ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

แนวทางที่ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็กสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการบำบัดและการกระตุ้นพัฒนาการรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบำบัดด้านการพูด กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การบำบัดด้านความคิด พฤติกรรม รวมทั้งการฝึกทักษะในการเข้าสังคม แต่โอกาสที่จะหายมีอัตราที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความสม่ำเสมอในการบำบัด และความร่วมมือของคนในครอบครัว

บำบัดด้านการพูด

การส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดนั้น ผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง เช่น พูดตอบโต้กับลูก โดยการพูดช้า ๆ และออกเสียงให้ชัด เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ไปด้วย หรืออ่านนิทานให้ฟัง หากพัฒนาการด้านภาษาของเขายังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะมีขั้นตอนการบำบัดหรือกระตุ้นพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและปัญหาที่เกิดขึ้น

 

กายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัดร่วมกัน

การกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด เป็นวิธีการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ๆ ที่มีปัญหาพัฒนาการด้านร่างกาย และทักษะการใช้ชีวิตอื่น ๆ โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้เขามีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย

นอกจากนี้ ยังเน้นการปรับทักษะการใช้ชีวิตอื่น ๆ เช่น สอนให้ผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเอง หรือสอนให้วาด เขียน และระบายสี เป็นต้น ที่สำคัญยังเน้นการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเสริมในการควบคุมร่างกายและทรงตัวให้เกิดความสมดุล รวมถึง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น

ฝึกทักษะในการเข้าสังคม และการปรับตัว

การบำบัดด้านสังคมเป็นการบำบัดกลุ่มเด็กที่มีปัญหาในการเข้าสังคม และการควบคุมอารมณ์ เช่น รู้สึกโกรธ โมโห หรือสมาธิสั้น โดยมักจะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ร่วมกันวิเคราะห์และเลือกกิจกรรมบำบัด ที่เหมาะสมกับปัญหาและช่วงอายุ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการให้เด็ก ๆ สามารถควบคุมตัวเอง และสื่อสารออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่สร้างปัญหาให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ นักบำบัดอาจขอความร่วมมือจากคนในครอบครัวของเด็ก ๆ เพื่อช่วยให้การบำบัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม

การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่เน้นการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงพฤติกรรมและความคิดที่อาจจะเข้าใจผิด โดยแพทย์จะพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหา และการรับรู้ที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับระบบความคิด อารมณ์ได้ และส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ปกติ

 

 

พัฒนาการเด็กน้อย

พัฒนาการในวัยเด็กเป็นความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การพูด การเคลื่อนไหว การเข้าสังคม และด้านอารมณ์ สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า คือ เด็กที่ไม่สามารถทำบางอย่างได้เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งพัฒนาการช้าเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม การติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอด และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น แต่เด็ก ๆ ที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าสามารถดีขึ้นได้ด้วยแนวทางในการบำบัดและการกระตุ้นพัฒนาการ แต่จะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ความสม่ำเสมอในการบำบัด และความร่วมมือของคนในครอบครัว

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ