โรคไข้ซิกา (Zika Fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) มีลักษณะคล้ายกับไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสไข้เหลือง และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี แพร่เชื้อโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือดและสามารถแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้อีกด้วย โรคนี้พบได้ในคนทุกช่วงอายุ สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดบ่อยในช่วงฤดูฝน
โรคไข้ซิกา (Zika Fever) มีอาการอย่างไร ?
หลังได้รับเชื้อ เชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3 – 10 วัน ผู้ที่รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ จะมีประมาณ 20% ของผู้ที่ได้รับเชื้อที่แสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ไข้
- ผื่นแดงตามตัว
- ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
ผลต่อทารกในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นอย่างไร ?
ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีการติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะศีรษะเล็ก(Microcephaly) เกิดสมองพิการแต่กำเนิด ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติในการได้ยิน การมองเห็น พัฒนาการและสติปัญญา ตามมาได้
โรคไข้ซิการักษาได้อย่างไร ?
ในปัจจุบันโรคไข้ซิกายังไม่มีการรักษาจำเพาะ การรักษาหลัก คือ การรักษาประคับประคองโดยการให้สารน้ำทดแทนและการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นเองภายใน 2 – 7 วัน
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้ซิกา
- ป้องกันการถูกยุงกัด โดยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง นอนกางมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสซิกา โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
- ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไข้ซิกา ผู้ป่วยหญิงควรมีการป้องกันหากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 เดือน ผู้ป่วยชายควรมีการป้องกันหากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 เดือน และหากวางแผนจะมีบุตรควรเว้นช่วงหรือคุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือน หลังมีอาการแสดงของโรค