
BMD คืออะไร สำคัญยังไง ทำไมต้องมาตรวจกับศูนย์กระดูกและข้อ
สุขภาพกระดูกเป็นสิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้ามจนกว่าจะเกิดปัญหา เช่น ภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก กรมการแพทย์ระบุว่า คนไทยกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนยังเสี่ยงกระดูกเปราะหักง่ายอีกด้วย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหว และคุณภาพชีวิตอย่างมาก
การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก หรือ BMD จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะนี้ วันนี้โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจ BMD วิธีตรวจ และวิธีการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณเข้าใจ และสามารถดูแลสุขภาพกระดูกของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
BMD คืออะไร สำคัญยังไง?
BMD (Bone Mineral Density) หรือการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่ช่วยประเมินภาวะกระดูกพรุนและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกระดูก การตรวจนี้สามารถช่วยให้แพทย์ทราบว่ากระดูกของผู้ป่วยมีความหนาแน่นเพียงพอหรือไม่ และสามารถใช้เป็นแนวทางในการป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเข้ารับการตรวจ BMD ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ จะช่วยให้คุณได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลสุขภาพกระดูกของคุณ
ใครบ้างที่ควรตรวจ BMD?
การตรวจ BMD ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ยังแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนเข้ารับการตรวจ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ : ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่มวลกระดูกจะลดลงตามอายุ
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน : เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้การสลายของกระดูกเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุเล็กน้อย : เช่น กระดูกข้อมือ หรือกระดูกสะโพกหักจากการหกล้มเล็ก ๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของกระดูกที่อ่อนแอ
- ผู้ที่ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน : เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรครูมาตอยด์ ซึ่งต้องใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับกระดูก : เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน : หากพ่อแม่หรือพี่น้องมีภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกหักจากภาวะดังกล่าว ควรตรวจ BMD ตั้งแต่อายุยังไม่มาก
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูก : เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
ตรวจ BMD ทำได้กี่แบบ?
การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกสามารถทำได้หลายวิธี โดยแต่ละวิธีมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์และผู้ป่วยแต่ละราย
Dual-energy X-ray absorptiometry (DXA)
- จุดเด่น : เป็นมาตรฐานทองคำของการตรวจ BMD เนื่องจากให้ค่าความแม่นยำสูง ใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ ทำให้ความเสี่ยงต่อรังสีอยู่ในระดับต่ำ
- วิธีการตรวจ : ใช้เครื่องเอกซเรย์พลังงานต่ำเพื่อตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกบริเวณสะโพกและกระดูกสันหลัง
- ข้อจำกัด : ไม่สามารถวัดรายละเอียดโครงสร้างภายในของกระดูกได้มากนัก
Quantitative computed tomography (CT)
- จุดเด่น : ใช้การสแกนด้วย CT scan ทำให้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างของกระดูกได้ดีขึ้น
- วิธีการตรวจ : ใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงกว่าการตรวจ DXA เพื่อสร้างภาพตัดขวางของกระดูก ช่วยประเมินทั้งความหนาแน่นและโครงสร้างของกระดูก
- ข้อจำกัด : มีปริมาณรังสีสูงกว่า DXA และมักใช้ในกรณีที่ต้องการวินิจฉัยเชิงลึกเพิ่มเติม
การตรวจอัลตราซาวด์
- จุดเด่น : ไม่ใช้รังสี ทำให้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการได้รับรังสี เช่น หญิงตั้งครรภ์
- วิธีการตรวจ : ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการวัดความหนาแน่นของกระดูก ส่วนใหญ่ใช้ตรวจที่กระดูกส้นเท้า
- ข้อจำกัด : ความแม่นยำต่ำกว่าวิธี DXA และ QCT ไม่สามารถใช้วินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนได้โดยตรง แต่ใช้เป็นวิธีคัดกรองเบื้องต้น
ตรวจ BMD มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การตรวจ BMD ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ โดยทั่วไปมีมาตรการดังต่อไปนี้ เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และได้ผลการตรวจที่แม่นยำ
ก่อนรับการตรวจ
- ไม่ต้องงดอาหารหรือน้ำดื่มก่อนตรวจ
- งดรับประทานแคลเซียมหรืออาหารเสริมแคลเซียมก่อนตรวจ 24 ชั่วโมง
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีโลหะ เช่น ซิป หรือกระดุมโลหะ
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากเพิ่งได้รับการฉีดสารทึบรังสีหรือกลืนแร่มา เพราะอาจมีผลต่อผลการตรวจ
ระหว่างรับการตรวจ
- ใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ตรวจ
- นอนนิ่ง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ขณะทำการตรวจ
หลังรับการตรวจ
- สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- รับผลการตรวจและคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับแนวทางดูแลกระดูก
- ผลที่ได้เป็นค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐานของประชากรทั่วไป (T-score) ซึ่งสามารถวินิจฉันได้ดังต่อไปนี้
- ค่า T score มากกว่า -1 = ความหนาแน่นกระดูกแบบปกติ (Normal Bone)
- ค่า T score ที่อยู่ต่ำกว่า -1 แต่สูงกว่า -2.5 = กระดูกบาง (Osteopenia)
- ค่า T score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
วิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน จาก BMD น้อย
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อมวลกระดูกโดยไม่จำเป็น
สรุป
สรุปได้ว่า การตรวจ BMD เป็นวิธีที่ช่วยประเมินสุขภาพกระดูกและป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของภาวะกระดูกพรุนและแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพกระดูกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล นอกจากนี้ การตรวจ BMD ยังช่วยให้สามารถติดตามผลการรักษาในผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้วได้อีกด้วย
หากคุณต้องการดูแลสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณได้รับแนวทางการป้องกันและดูแลกระดูกของตนเองได้อย่างดีที่สุด