Vitamin D : ดี และมีประโยชน์อย่างไร ?

25 ม.ค. 2565 | เขียนโดย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

หน้าที่หลัก ๆ คือควบคุมภาวะสมดุลของเเร่ธาตุ แคลเซียม และฟอสเฟต ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูกให้แข็งแรง นอกจากนี้ วิตามินดียังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มคัน ดูแลร่างกายในหลาย ๆ อวัยวะ ตั้งแต่สมอง อารมณ์ หัวใจ หลอดเลือด เส้นเอ็น กระดูก กล้ามเนื้อ ตับอ่อน รังไข่ เต้านม ต่อมลูกหมาก และอื่น ๆ



วิตามินดีมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร ?

หน้าที่หลัก ๆ คือควบคุมภาวะสมดุลของเเร่ธาตุ แคลเซียม และฟอสเฟต ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูกให้แข็งแรง นอกจากนี้ วิตามินดียังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มคัน ดูแลร่างกายในหลาย ๆ อวัยวะ ตั้งแต่สมอง อารมณ์ หัวใจ หลอดเลือด เส้นเอ็น กระดูก กล้ามเนื้อ ตับอ่อน รังไข่ เต้านม ต่อมลูกหมาก และอื่น ๆ

 

วิตามินดี หาได้จากแหล่งใดบ้าง ?

  • ร่างกายสร้างเองได้ ผิวหนังของคนเราสามารถสร้างวิตามินดีขึ้นเองได้ เมื่อได้รับแสงแดด โดยรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิดบี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่ายูวีบี เปลี่ยนสารโคเลสเตอรอลใต้ผิวหนังตัวหนึ่ง ไปเป็นวิตามินดี 3 ส่งต่อไปที่ตับ และไต เปลี่ยนเป็นตัวออกฤทธิ์ในที่สุด
  • จากอาหารที่รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินดี ได้แก่ ปลาไขมันสูง (ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน) เเละไข่แดง
  • จากการรับประทานวิตามินดีเสริม

 

นอกจากการสร้างกระดูกให้แข็งแรง วิตามินดียังมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นอย่างไรอีกบ้าง ?

  • ลดภาวะการดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายสามารถใช้อินซูลินได้ดีขึ้น จึงลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • ลดอัตราการเกิดโรคปลอกประสาทอักเสบ (MS) เเม้โรคนี้จะพบน้อยในคนไทย แต่ก็พบได้ ลักษณะของโรคมักกำเริบ กลับเป็นซ้ำได้ วิตามินดีสามารถลดการกำเริบซ้ำของโรคปลอกประสาทอักเสบได้
  • ปวดศีรษะไมเกรนที่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน
  • วิตามินดีช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินมากขึ้น ช่วยลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้
  • ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืด
  • มีการศึกษาพบว่า ระดับวิตามินดีที่ต่ำ สัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น SLE ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด
  • ช่วยป้องกัน และรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ
  • มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปรับสมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต้านทานโรคได้มากขึ้น
  • ช่วยต้านโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เพิ่มประสิทธิภาพของการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการเล่นกีฬาที่มีความหนัก และต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่นวิ่งมาราธอน ไตรกีฬา

 

วิตามินดียังมีประโยชน์ในเรื่องภูมิคุ้มกันอย่างไร ?

  • ช่วยให้เม็ดเลือดขาวหลายชนิด ทั้ง neutrophils macrophages lymphocyte ฆ่าเชื้อโรคได้ดีขึ้น และช่วยให้เม็ดเลือดขาวชนิด macrophages เพิ่มความสามารถให้การจับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
  • มีการศึกษา ระดับวิตามินดีมากกว่า 38 ng/ml ลดการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

กลุ่มเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดีคือกลุ่มใด ?

  • คนที่มักใช้ชีวิตในร่ม รวมถึงคนที่สวมใส่เครื่องนุ่งห่ม หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด (ซึ่งในปัจจุบัน ครีมกันเเดดมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถป้องกันรังสียูวีบี ลดการผลิตวิตามินดีได้ถึง 97-100%)
  • ผู้สูงอายุ ซึ่งผิวหนัง และไตมีประสิทธิภาพในการสร้างวิตามินดีลดลง
  • ผู้ที่มีผิวสีเข้ม (ยิ่งสีผิวเข้ม ยิ่งได้รังสียูวีบีน้อย)
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีไขมันสะสม มักเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะการขาด หรือ พร่องวิตามินดี
  • รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลทำให้ได้รับรังสียูวีบีน้อยลง เช่น วันที่มีเมฆ ร่มเงาใต้ชายคา หมอกควัน มลภาวะ ฤดูกาล หรือ ตำแหน่งของผิวโลกที่เราอาศัยอยู่ (เช่น ประเทศไทย อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แสงแดดมาก โอกาสที่จะได้รับรังสียูวีบี ย่อมมากกว่าคนที่อยู่ค่อนไปทางขั้วโลก) และ รังสียูวีบีไม่สามารถผ่าน กระจกใส หน้าต่างกระจก หรือ หน้าต่างรถยนต์ได้

 

อาการที่บ่งบอกว่าขาดวิตามินดี คืออะไร ?

อาการค่อนข้างไม่เฉพาะเจาะจง บางรายอาจแค่มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดเมื่อยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น การวินิจฉัยภาวะพร่องวิตามินดีที่ดีที่สุดคือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับไฮดรอกซีวิตามินดี 25(OH)D ในร่างกาย  โดยไม่ต้องอดน้ำ และอาหาร หากตรวจพบว่า ระดับวิตามินดีต่ำ ก็มีความจำเป็นที่จะเพิ่มระดับวิตามินดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของต่อร่างกายดังที่ได้กล่าวมา

 

สามารถเพิ่มระดับวิตามินดีโดยวิธีใดได้บ้าง ?

ปรับวิถีชีวิตไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง โดนแสงแดดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสัมผัสแสงแดดในช่วงเวลา 9.00-15.00 น. นาน 5-30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยให้แดดถูกหน้า แขน ขา หรือ แผ่นหลัง ขณะที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด จะได้วิตามินดีมากเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ  แต่บางคนอาจจะกลัวเรื่องฝ้า กระ ผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น แก่ก่อนวัย และมะเร็งผิวหนัง ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ได้ รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ควรรับประทานวิตามินดีเสริม

 

 

ก่อนที่จะเริ่มรับประทานวิตามินดีเสริม ควรตรวจระดับแคลเซียม ค่าการทำงานของตับ และไตก่อน รวมถึงควรมีการติดตามระดับไฮดรอกซีวิตามินดี และแคลเซียมเป็นระยะ พึงระมัดระวังในผู้ป่วยบางกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีรอยโรคที่ต่อมพาราไทรอยด์ มะเร็งบางอย่าง และวัณโรค เพราะการรับประทานวิตามินดีเสริม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงอยู่แล้ว แย่ลงได้ เพราะฉะนั้นการรับประทานวิตามินดีเสริม ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์จะดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และได้ประโยชน์สูงที่สุด

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชาศาสตร์ชะลอวัย ได้ที่ คลิก >>

ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center  โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ช่องทาง :
SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ