เชื้อไมโคพลาสมา...อันตรายอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่!?
ไมโคพลาสมาคืออะไร ?
ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) คือ แบคทีเรียขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่ปราศจากผนังเซลล์ เชื้อนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย แต่สายพันธุ์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้บ่อย คือ Mycoplasma pneumoniae ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยสามารถพบการติดเชื้อได้ในคนทุกช่วงวัย แต่พบได้บ่อยในคนอายุน้อย
ไมโคพลาสมาติดต่อกันได้อย่างไร ?
เชื้อไมโคพลาสมาสามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป การอยู่ในที่ชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ได้ง่ายขึ้น
อาการของการติดเชื้อไมโคพลาสมาเป็นอย่างไร ?
เชื้อไมโคพลาสมาทำให้เกิดอาการได้หลายระบบ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการของระบบทางเดินหายใจ โดยอาจเป็นได้ทั้งคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ไปจนถึงปอดอักเสบ นอกจากนี้ เชื้อไมโคพลาสมายังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โลหิตจางจากเม็ดโลหิตแดงแตก ผื่นผิวหนังอักเสบ
อาการที่พบได้บ่อยเมื่อมีการติดเชื้อไมโคพลาสมา
- ไข้
- ไอ เจ็บคอ
- หอบเหนื่อย หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ผื่นแดงตามตัว
ไมโคพลาสมารักษาอย่างไร ?
- การให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถครอบคลุมเชื้อได้ ได้แก่ ยากลุ่ม macrolide เช่น azithomycin หรือกลุ่ม quinolone เช่น levofloxacin
- การรักษาตามอาการ และการรักษาประคับประคอง เช่น การให้ยาลดไข้ การให้ออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ การให้ยากระตุ้นหัวใจในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ป้องกันการติดเชื้อไมโคพลาสมาได้อย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น สถานที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี
- สวมใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือบ่อย ๆ
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไมโคพลาสมา หากมีอาการไม่สบายดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง