
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งในด้านอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยมีอาการสำคัญคือความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง สูญเสียความสนใจในกิจกรรมต่างๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคซึมเศร้า (Depression) เกิดจากอะไร ?
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้ามีดังนี้
- ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน โดปามีน เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- สาเหตุทางพันธุกรรม หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าด้วย
- ปัจจัยทางจิตใจ มีบุคลิกภาพมองโลกในแง่ลบ ตำหนิตนเอง พึ่งพาคนอื่นมากเกินไป
- การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลในการรับมือกับความเจ็บป่วย
- การผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนทางใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มีปัญหาด้านความสัมพันธ์
- ภาวะติดสุรา การใช้สารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยานอนหลับ
อาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร ?
- มีอารมณ์ซึมเศร้า ว่างเปล่า ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือวิตกกังวลหงุดหงิดมากเกินไป
- สูญเสียความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมต่าง ๆ
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารผิดปกติ
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเฉื่อยชาลง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด โทษตัวเอง
- ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง ลังเลใจ
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดอยากตาย
หากพบว่ามีอาการข้างต้นอย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป โดยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ มีอาการตลอดแทบทุกวัน ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับตรวจวินิจฉัยเพราะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้ารักษาอย่างไร ?
- การรักษาด้วยจิตบำบัด (psychotherapy) เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
- การรักษาด้วยยา โดยการใช้ยาต้านเศร้าเพื่อช่วยปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง
- การรักษาด้วยอุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation) รักษาโดยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านหนังศีรษะเพื่อให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์สมอง ใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผลหรือมีข้อห้ามในการให้ยารักษา
- การรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy) ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือมีอาการรุนแรงมาก
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ การรับการรักษาเร็วจะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้การรักษายากขึ้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจมีอาการของโรคซึมเศร้าจึงควรมาปรึกษาจิตแพทย์โดยทันที