วัย 50+ อย่าชะล่าใจ ส่องกล้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ต้องแอดมิด

31 ส.ค. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

          โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่พบในคนไทยบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น ปวดเบ่งถ่ายตลอดเวลา ท้องอืด ปวดท้องแน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อย อ่อนเพลีย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ วิธีนี้นอกจากจะปลอดภัย ไม่ต้องแอดมิดแล้ว ผลการตรวจวินิจฉัยยังมีความแม่นยำ หากตรวจรู้เร็ว จะได้รักษาได้ทันท่วงที

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะพบมากในช่วงผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทว่าส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูง ผู้ที่มีดัชนีเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และมักสูบบุหรี่ หรือ มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

          อาการที่สังเกตและพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย มีพฤติกรรมการขับถ่ายผิดปกติ (ถ่ายบ่อยหรือน้อยกว่าปกติ) ท้องผูก ปวดเบ่งในช่องทวารหนัก ถ่ายไม่สุด อุจจาระลำบากหรือลำอุจจาระมีขนาดเล็กลง คลำพบก้อนในท้อง ซีด เบื่ออาหารและน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องอืด ปวดท้องแน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก เป็นต้น ผู้ป่วยบางราย อาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ เลยก็เป็นได้

ทำไมจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการส่องกล้อง

การส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นมาตรฐานสากล โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้คือเพศชาย และหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทย

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ นอกจากจะเป็นการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ยังช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็งที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจเรียกว่า “Colonoscope” หรือกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแปลผลวินิจฉัยได้ถูกต้อง ทั้งนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ ส่งตรวจและการตัดเอาเนื้องอกที่เป็นติ่งเล็กๆ ผ่านทางกล้องได้เลย ปลอดภัย ไม่ต้องแอดมิด เพียงแค่นอนพักไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงกลับบ้านได้ ถ้าหากตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ก่อนเกิดมะเร็ง หรือพบมะเร็งระยะแรก จะทำให้สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

ขั้นตอนการเตรียมตัวส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ที่เข้ารับการตรวจส่องกล้องนั้น จะได้รับคำแนะนำในการรับประทานอาหารก่อนเข้าตรวจ เพื่อปรับการทำงานของลำไส้ใหญ่ โดย 3 วันก่อนตรวจต้องรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มปลา นม เป็นต้น และงดรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวนและเวลาตามที่แพทย์สั่ง ควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ และคืนวันก่อนตรวจ ให้งดอาหาร และน้ำดื่ม 6 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะทำการตรวจเสร็จ

ขั้นตอนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  1. เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์
  2. หลังจากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้างงอเข่าชิด แล้วจะค่อยๆ สอดกล้องผ่านทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่ จากนั้นตรวจผิวภายในลำไส้ทั้งหมดอย่างละเอียด การส่องกล้องจะสิ้นสุดเมื่อถอนกล้องออกมา โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ซึ่งรวมกับเวลาเตรียมตัว การตรวจ กระทั่งออกมาพักฟื้นที่ห้อง รวมแล้วใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง
  3. ขณะตรวจจะมีการเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ขยาย อาจทำให้รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรือแน่นอึดอัดท้อง อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้ด้วยการหายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง
  4. เมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือติ่งเนื้อ แพทย์จำเป็นจะต้องทำการตรวจเพิ่มโดยการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านกล้องเพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัย โดยชิ้นเนื้อจะเป็นเพียงเยื่อบุผิวขนาดเล็กแค่เพียงพอต่อการวินิจฉัยเท่านั้น ถ้าหากตรวจพบติ่งเนื้อ (Polyps) ซึ่งก็คือ เยื่อบุลำไส้ที่งอกเติบโตผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่ดีไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งติ่งเนื้อจะมีขนาดรูปร่างและชนิดต่างๆ กันไป โดยแพทย์จะตัดติ่งเนื้อออกทั้งหมดเพื่อช่วยการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากนั้นนำติ่งเนื้อไปตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยพยาธิวิทยาอีกครั้ง

การส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจ็บตัวหรือไม่

การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาในเวลาเดียวกัน โดยใช้เวลาตรวจรักษาประมาณ 30 นาที รวมถึงไม่ต้องวางยาสลบ เรียกได้ว่าตั้งแต่การเตรียมตัว จนกระทั่งแพทย์ตรวจรักษาโดยการตัดติ่งเนื้อ และให้คนไข้พักหลังทำหัตถการใช้เวลารวมประมาณครึ่งวัน ในบางรายอาจกังวลว่าหลังจากที่ตัดติ่งเนื้อไปแล้วจะเจ็บหรือไม่ บอกได้เลยว่า “ไม่เจ็บ” เพราะบริเวณนั้นเป็นเยื่อบุ ไม่มีเส้นประสาทไปหล่อเลี้ยง จึงหมดกังวลเรื่องความเจ็บปวดไปได้

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

หลังการตรวจส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม จากการใส่ลมขณะส่องกล้องซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ถ่ายอุจจาระอาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีหัตถการในการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก เลือดออกมากผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำจะไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ จึงต้องมีญาติคอยดูแลสังเกตอาการ และห้ามขับรถหรือทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

หากตรวจพบความผิดปกติ รักษาอย่างไร

เมื่อผลตรวจสรุปว่าเป็นมะเร็ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษา และสำหรับแนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารนั้น มีหลายวิธีซึ่งแพทย์จะต้องวางแผนการรักษาให้กับคนไข้แต่ละรายอย่างเหมาะสม โดยมีตั้งแต่แนวทางการผ่าตัด การให้การรักษาร่วมอื่นๆ อาทิ ฉายรังสีรักษา เคมีบำบัด เป็นต้น

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

นอกจาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องแล้ว การป้องกันโรคนี้คือ ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย อาหารที่มีไขมันน้อย ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการป้องกันภาวะท้องผูกจะสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

 

แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/3fvO4RY
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/2YBhkQo
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/2YD6aKS
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  https://bit.ly/2Bc0SxM
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/3s6mGRo
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3oBtV1F

SHARE