
ERCP เป็นนวัตกรรมการรักษาโรคท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อนโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยโรคนิ่วในท่อน้ำดี หรือโรคอื่น ๆ ไม่ต้องมีรอยแผลเป็น เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว
ความหวังใหม่ รักษานิ่วในท่อน้ำดี ด้วยนวัตกรรมการส่องกล้อง ERCP
สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดทรมานจากอาการนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในท่อน้ำดี และกำลังมองหาทางออกในการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ขอแสดงความยินดีด้วย! เพราะในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยนวัตกรรมการส่องกล้องที่เรียกว่า ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography) ความหวังใหม่ในการรักษา นิ่วในท่อน้ำดี โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ และในวันนี้สินแพทย์ รามอินทรา จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ การวินิจฉัย และแนวทางการรักษาด้วยนวัตกรรม ERCP อย่างละเอียด
ปวดตรงไหนเสี่ยงเป็น “นิ่วในท่อน้ำดี”
จะรู้ได้ยังไงว่าปวดตรงไหน เสี่ยงเป็นนิ่วบริเวณถุงน้ำดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการปวดบริเวณใต้ชายโครงขวา บริเวณลิ้นปี่ หรืออาจร้าวไปยังหลังหรือไหล่ขวา นั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของนิ่วที่ท่อน้ำดีได้
วิธีแยกระหว่างปวดท้องธรรมดา vs โรคนิ่วในท่อน้ำดี
วิธีแยกแยะระหว่างอาการปวดท้องธรรมดากับอาการปวดจากนิ่วในท่อน้ำดี หากปวดท้องธรรมดาจะดีขึ้นได้เอง หรือหลังจากรับประทานยา ในขณะที่การปวดจากนิ่ว จะมีอาการหลัก ๆ ที่สามารถสรุปได้ ดังนี้
- อาการปวดมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและมีความรุนแรงมาก จนอาจทำให้ผู้ป่วยทนไม่ได้
- ตำแหน่งที่ปวดคล้ายกับนิ่วในถุงน้ำดี แต่ในบางรายอาจปวดบริเวณกลางท้องส่วนบนได้เช่นกัน
- นิ่วไปอุดตันท่อน้ำดี ทำให้บิลลิรูบิน (สารสีเหลือง) คั่งค้างในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้ม
- หากเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อในท่อน้ำดีร่วมด้วย อาจมีอาการไข้สูงและหนาวสั่น
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับการปวดท้อง
- อาการปวดไม่สัมพันธ์กับอาหาร แตกต่างจากนิ่วที่ถุงน้ำดีที่มักปวดหลังทานอาหารไขมันสูง แต่นิ่วในท่อน้ำดีสามารถทำให้เกิดอาการปวดได้ตลอดเวลา
แนวทางวินิจฉัยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในผลตรวจ
แนวทางวินิจฉัยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในผลตรวจ นอกจากการแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว อาจทำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- การตรวจเลือด : เพื่อตรวจสอบค่าการทำงานของตับและระดับบิลลิรูบินในเลือด หากมี นิ่วในท่อน้ำดี ค่าเหล่านี้มักจะสูงขึ้น
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง : เป็นการตรวจเบื้องต้นที่สามารถช่วยให้เห็นภาพของถุงน้ำดีและท่อน้ำดีได้ แต่บางครั้งอาจไม่สามารถเห็นนิ่วขนาดเล็กในท่อน้ำดีได้อย่างชัดเจน
- การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) : สามารถให้ภาพที่ละเอียดมากขึ้นของท่อน้ำดีและบริเวณโดยรอบ ซึ่งอาจช่วยในการวินิจฉัย นิ่วในท่อน้ำดี ได้
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการสร้างภาพท่อน้ำดีและตับอ่อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRCP ): เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูงในการวินิจฉัย นิ่วในท่อน้ำดี และยังสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของท่อน้ำดีได้อีกด้วย
- การส่องกล้อง ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography) : ถือเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูงที่สุดสำหรับ นิ่วในท่อน้ำดี โดยแพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กผ่านทางปากลงไปยังท่อทางเดินน้ำดี ทำให้สามารถมองเห็นนิ่วได้โดยตรง และยังสามารถทำการรักษาไปพร้อมกันได้อีกด้วย เช่น การตัดขยายหูรูดท่อน้ำดี (sphincterotomy) และการนำนิ่วออกมา
แนวทางการรักษาด้วยนวัตกรรมส่องกล้อง ERCP
การรักษาด้วยนวัตกรรมส่องกล้อง ERCP เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงต่ำ โดยแพทย์จะทำการสอดกล้อง ERCP ซึ่งเป็นกล้องขนาดเล็กที่มีแสงสว่างติดอยู่บริเวณส่วนปลาย สอดผ่านทางปากลงไปยังท่อทางเดินน้ำดี จากนั้นจะทำการรักษาตามความเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีการหลัก ๆ ดังนี้
บอลลูนลากนิ่ว
บอลลูนลากนิ่ว จะใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก แพทย์อาจใช้บอลลูนสอดผ่านท่อ ERCP เข้าไปในท่อทางเดินน้ำดี จากนั้นจะทำการขยายบอลลูนเพื่อดัน นิ่วในถุงน้ำดี ให้หลุดออกมา
ตะกร้อลากนิ่ว
ตะกร้อลากนิ่ว สำหรับนิ่วในที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์จะใช้วิธีเดียวกันกับบอลลูนลากนิ่ว แต่จากนั้นจะทำการคล้องก้อนนิ่วในและดึงออกมาอย่างระมัดระวัง หากนิ่วมีก้อนใหญ่มาก อาจจะมีการใช้เลเซอร์สลายนิ่ว หรืออาศัยการตัดก้อนนิ่ว เพื่อให้นำออกมาได้ง่ายขึ้น และป้องกันการเกิดผลกระทบต่ออวัยวะใกล้เคียง
เตรียมตัวก่อนส่องกล้อง ERCP ตรวจท่อทางเดินน้ำดี
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้อง ERCP ตรวจท่อทางเดินน้ำดี สามารถทำได้ ดังนี้
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว ยาที่กำลังรับประทาน รวมถึงประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ
- เจาะเลือดเพื่อตรวจความพร้อมของร่างกาย
ดูแลตัวเองหลังส่องกล้อง ERCP ตรวจท่อทางเดินน้ำดี
ดูแลตัวเองหลังส่องกล้อง ERCP ตรวจท่อทางเดินน้ำดี สามารถทำได้ ดังนี้
- อาการเจ็บคอเล็กน้อย หรือรู้สึกไม่สบายท้อง จะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- ทั้งนี้หากมีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ขั้นตอนการส่องกล้อง ERCP ตรวจท่อทางเดินน้ำดี
ขั้นตอนการส่องกล้อง ERCP เพื่อตรวจรักษานิ่วที่ถุงน้ำดี สามารถทำได้โดย
การใช้ยาระงับความรู้สึก
ก่อนเริ่มการส่องกล้อง แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่เจ็บปวดระหว่างการตรวจ
หาจุดวางตำแหน่ง
หาจุดวางตำแหน่ง โดยแพทย์จะจัดให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้ง่ายต่อการสอดกล้อง ERCP
เริ่มใช้กล้องส่องในการตรวจ
แพทย์จะค่อย ๆ สอดกล้อง ERCP ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่น ผ่านทางปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีท่อทางเดินน้ำดีเปิดออก
ใส่สายสวนและถ่ายภาพด้วยฟลูออโรสโคปี
เมื่อกล้อง ERCP ไปถึงบริเวณท่อทางเดินน้ำดีแล้ว แพทย์จะสอดสายสวนขนาดเล็กผ่านกล้องเข้าไปในท่อทางเดินน้ำดี จากนั้นจะฉีดสารทึบรังสี และทำการถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี เพื่อให้เห็นภาพของท่อทางเดินน้ำดีและ นิ่วในถุงน้ำดี ได้อย่างชัดเจน
เริ่มต้นการรักษาด้วยการใช้กล้อง ERCP
เมื่อพบนิ่วในท่อน้ำดี แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้บอลลูนลากนิ่ว หรือตะกร้อลากนิ่ว ตามความเหมาะสม
ข้อดีของการตรวจและรักษาด้วยกล้อง ERCP
การตรวจและรักษา นิ่วในท่อน้ำดี ด้วยกล้อง ERCP มีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
- ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้แผลมีขนาดเล็กและฟื้นตัวได้เร็ว
- มีความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยและรักษา
- สามารถทำการรักษาได้ทันทีที่ตรวจพบความผิดปกติ
- ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับทางเดินท่อน้ำดีและตับอ่อนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แนวทางการรักษานิ่วในท่อน้ำดีด้วยนวัตกรรมส่องกล้อง ERCP เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา สำหรับการขอคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้คุณกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง