ผู้ปกครองมือใหม่ เห็นลูกน้อยไอเรื้อรังมานานกว่า 3 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อาการไม่ดีขึ้น หากมีปัจจัยเหล่านี้ อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้
เรื่องปอดอย่าป๊อด ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก เสี่ยง “วัณโรคปอด” ในเด็ก
หลายคนเข้าใจผิดว่าวัณโรคนั้นเกิดได้แค่กับผู้ใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเด็กก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน แถมยังมีโอกาสเป็นรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ด้วย ดังนั้นหากลูกน้อยของคุณ มีอาการไอเรื้อรัง ไอจนเจ็บหน้าอก อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ให้รีบมาพบแพทย์ เข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะถ้าหากเป็นวัณโรคจริง ๆ จะได้ทำการรักษาให้หายขาดได้ทัน ซึ่งถ้ายังไม่แน่ใจว่าลักษณะอาการแบบไหนเข้าข่ายวัณโรคบ้าง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเราจะพาไปดูตั้งแต่ความหมาย ประเภท อาการ สาเหตุ โรคแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับวัณโรค ไปจนถึงวิธีการดูแลลูกน้อยเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
วัณโรคปอด คืออะไร
วัณโรค คือ โรคติดต่อเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่มักจะพบที่ปอด เรียกว่า “วัณโรคปอด”สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางอากาศได้ โดยการไอ การจาม การพูดคุย การหัวเราะ หรือแม้กระทั่งการร้องเพลง ส่วนในเด็กมักจะพบได้ในอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระดูกสันหลัง อวัยวะในช่องท้อง ระบบประสาท และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะเป็นการติดเชื้อและแสดงอาการในคนที่ติดเชื้อ แต่การติดเชื้อในส่วนนี้จะไม่ได้มีการแพร่กระจายไปสู่คนรอบข้าง
วัณโรคปอด มีกี่ประเภท
วัณโรคปอด มีอยู่ 2 ระยะ ดังนี้
วัณโรคแฝง
วัณโรคแฝง เด็กที่ป่วยในกลุ่มประเภทนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโรคนี้ และจะไม่แพร่เชื้อไปยังบุคคลที่อยู่รอบ ๆ ตัว แต่ก็สามารถนำไปสู่ระยะที่แสดงอาการได้ จึงจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาเหมือนกัน
วัณโรคระยะแสดงอาการ
วัณโรคระยะแสดงอาการ เด็กที่ป่วยในกลุ่มประเภทนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีอาการของการป่วยเป็นวัณโรค และต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน
อาการของวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง
อาการของวัณโรคปอดในเด็กอาจไม่ชัดเจนหรือแตกต่างจากโรคอื่น ๆ มากนัก แต่โดยทั่วไปจะพบอาการดังนี้
- ไอเรื้อรังไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์
- รู้สึกเจ็บหรือแน่นบริเวณหน้าอก
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบากเมื่อทำกิจกรรม
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซูบผอม
- มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่ายหรือกลางคืน
- เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
สาเหตุของวัณโรคปอด เกิดจากอะไร
วัณโรคเกิดจากอะไร สาเหตุของวัณโรคปอดมีทั้งหมด 3 ส่วนหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
เชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis
เชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis เป็นเชื้อโรคหลัก ๆ โดยจะผ่านมาทางละอองฝอยจากอากาศ แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อ แต่ในความจริงแล้ว ไม่ได้ติดกันได้ง่าย ๆ ขนาดนั้น และจะไม่ติดจากคนแปลกหน้าที่เดินสวนกันไปมาเพียงชั่วคราว แต่จะติดจากคนใกล้ตัว ที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลาเป็นส่วนใหญ่
ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิเช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะติดวัณโรคได้ง่ายเพราะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ
อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงในการติดเชื้อ
อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงในการติดเชื้อ ในที่นี้หมายถึงอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีการสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคโดยตรง
วัณโรคปอด รักษาหายไหม
วัณโรคปอดเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะหลายชนิด โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและครบตามที่แพทย์สั่ง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วน ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
โรคแทรกซ้อนจากวัณโรคที่ปอด
หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง วัณโรคที่ปอดอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เช่น
ฝีในปอด
ฝีในปอด เกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรง
ข้อต่อกระดูกอักเสบ
ข้อต่อกระดูกอักเสบ เมื่อเชื้อแพร่กระจายไปยังข้อต่อ ทำให้ข้อต่ออักเสบ บวม แดง และทำให้ขยับร่างกายได้ไม่สะดวก
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อเชื้อแพร่กระจายไปยังสมอง ทำให้เกิดอาการปวดหัว คอแข็ง ชัก
ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด
ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีน้ำสะสมในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอด
ตับ ไต และหัวใจผิดปกติ
ตับ ไต และหัวใจผิดปกติ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อโรคเริ่มเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะ ระบบอื่น ๆ ภายในร่างกาย
วัณโรคที่ปอด ควรดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อทราบว่าบุตรหลานป่วยเป็นวัณโรคปอด การดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังผู้อื่น ดังนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและต่อสู้กับโรคได้ดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย
- ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ เพื่อให้บุตรหลานมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรค
การดูแลผู้ป่วยวัณโรคปอดในเด็กต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้บุตรหลานหายจากโรคได้อย่างสมบูรณ์
สรุป
วัณโรคปอดเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ ถ้าบุตรหลานของคุณมีอาการไอ เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยง่าย ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที วัณโรคปอดจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรควัณโรคปอดในเด็กเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำแนะนำของแพทย์ได้ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด